เป็นที่แน่ชัดว่าฝ่ายค้านตั้งเป้าอภิปรายไม่ไว้วางใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยจะมองย้อนหลังไป 5 ปีในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. สะท้อนถึงปัญหาในปัจจุบันด้วย กระนั้นวันก่อนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 สถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะตามข้อมูลที่ได้จากการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังพบว่า จะมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่เตรียมลงทุนในเดือน พฤศจิกายน และธันวาคมนี้ ซึ่งช่วยชดเชยการส่งออกและลงทุนเอกชนได้ พร้อมทั้งระบุว่า ภายใต้ภาวะวิกฤติโลกตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยดีกว่าอีกหลายประเทศ ช่วงนี้ทุกประเทศเจอปัญหาเหมือนกันหมด แม้แต่จีนเองยังติดลบ ดังนั้นต้องใช้ช่องทางอื่น ๆ มาช่วยเหลือ เช่น ด้านการลงทุน ซึ่งข้อมูลล่าสุด ทราบว่าการลงทุนดีขึ้น และมาตรการต่าง ๆ ที่ออกไปก่อนหน้านี้ เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ ที่ออกมาคาบเกี่ยวไตรมาส 3-4 ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจชัดเจนในไตรมาสที่ 4 ขออย่างเดียวเรื่องการส่งออกและลงทุนเอกชนอย่าเลวร้ายลงไปอีก สำหรับมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” นั้น ล่าสุด ส่วนของกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผย การใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. – วันที่ 17 พ.ย. 2562 พบว่า มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 11,738,468 ราย มีการใช้จ่ายรวม 13,117 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายจาก g-Wallet ช่อง 1 จำนวน 11,569 ล้านบาท สำหรับ g-Wallet ช่อง 2 มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 117,859 ราย มียอดการใช้จ่ายรวม 1,548 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณ 13,134 บาท โดยเพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ มาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 3 ได้เปิดให้ลงทะเบียนสำหรับประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ 14 – 16 พ.ย. 2562มีผู้ลงทะเบียนครบ 1.5 ล้านรายแล้ว ขณะที่นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/62 ขยายตัว 2.4% สูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.3% โดยเมื่อเทียประมาณการของ ธปท.ที่เผยแพร่ในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ก.ย.62 พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาดไว้ในหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะภาคต่างประเทศที่หดตัวมากกว่า จากการส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐที่ขยายตัวชะลอลงกว่าคาด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้อย่างมีนัย อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 3/62 ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือน ก.ย.62 หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.ย.62 ชี้ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินในรายงานนโยบายการเงินอย่างมีนัย สำหรับระยะต่อไป ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากทิศทางการค้าโลกที่มีบรรยากาศดีขึ้น รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ในภาพรวมยังเป็นการขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพพอสมควร ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศ จากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความเสี่ยงในประเทศจากความเข้มแข็งของตลาดแรงงาน ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชนในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น นอกจากจะอภิปรายถึงปัญหาของเศรษฐกิจไทยแล้ว เราคาดหวังว่าจะฝ่ายค้านจะมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ต่อรัฐบาล เพื่อบรรยากาศในการทำงานในสภาฯที่ราบรื่น