ทองแถม นาถจำนง ต่อจากฉบับที่แล้ว เรื่องทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรอยุธยากับฮอลแลนด์ (วิลันดา)นี้ มีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับไทย เพราะแม้ว่าโปรตุเกสจะเป็นชาติตะวันตกจากยุโรปชาติแรกที่เข้ามาสัมพันธ์กับอยุธยา แต่อยุธยามีคณะทูตนำพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีกับฮอลแลนด์เป็นชาติยุโรปชาติแรก พวกโปรตุเกสนั้นมาถึงสยามก่อนหน้าฮอลันดาถึงเกือบร้อยปี กล่าวคือ ทูตโปรตุเกสจากมะละกาซึ่งมีดูอาร์เต เฟอร์นันเดส เป็นหัวหน้าคณะ ได้เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ 2034 – 2072 ) เมื่อ พ.ศ 2059 เพื่อทำสนธิสัญญาทางการค้าและตั้งคลังสินค้า ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งที่พำนักอาศัยอยู่ในพระนครได้ ส่วนชาวฮอลันดานั้นเข้ามาเป็นชาติที่สอง รองจากชาติโปรตุเกส ที่เข้ามาค้าขายในเมืองปัตตานี ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อปี พ.ศ.2144 โดย กัปตัน วันเน็ค ได้นำเรือ แอมสเตอร์ดัม (Amsterdam) และ เรือกูดา (Gouda) เข้ามาเจรจากับรานีฮียา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2144 เพื่อขออนุญาต จัดตั้งสถานีการค้าขึ้น มีนายดาเนียล วันเดอร์เล็ค (Daniel Vanderlek) รับหน้าที่ เป็นหัวหน้าสถานีการค้าและนายปีเตอร์ วอลิคส์ (Pieter Walieksx) เป็นผู้ช่วยทำการค้าขาย ติดต่อ ระหว่าง อยุธยา - ปัตตานี - ไทรบุรี - นครศรีธรรมราช - สงขลา - ภูเก็ต และ เมืองบันตัม ในเกาะชวา  เมื่อมีการก่อตั้งบริษัท Vereigde Oostindische Compangnie (VOC) หรือบริษัท Dutch East India ขึ้นในเนเธอร์แลนด์ สถานีการค้าเหล่านั้น จึงได้รวมเข้าด้วยกัน และอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานการค้า VOC ความสัมพันธ์ทางการค้า      พ.ศ 2147 คณะผู้แทนทางการทูตของเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และแสวงหาลู่ทางขยายการค้ากับจีน โดยขอเดินทางไปจีนร่วมกับคณะทูตของไทย แต่การเดินทางดังกล่าวต้องยกเลิกไป เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า อีกทั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จฯ สวรรคต เมื่อเดือนเมษายน 2148 ต่อมาในปีเดียวกัน สมเด็จพระเอกาทศรถได้ส่งคณะทูตไทย จำนวน 15 คน เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเนเธอร์แลนด์ โดยราชทูตไทยได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมอริทซ์แห่งราชวงศ์ออเรนจ์ของเนเธอร์แลนด์ และได้ถวายพระราชสาสน์ของสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อปี 2151 ตอนขากลับทางกษัตริย์ฮอลันดาได้ฝากปืนใหญ่และอาวุธอื่นๆ มาถวายแด่สมเด็จพระเอกาทศรถ   ฮอลันดานั้นจะแตกต่างกับโปรตุเกสคือฮอลันดา นั้นสนใจเฉพาะด้านการค้าโดยไม่ได้สนใจในเรื่องการเผยแผ่คริสต์ศาสนาสำหรับสินค้าที่ชาวฮอลันดาต้องการจากอยุธยามากเช่น เครื่องเทศ พริกไทย หนังกวาง แลข้าว ฯลฯ ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฮอลันดาเป็นไปด้วยดี จะกระทั่งในพ.ศ 2176 ฮอลันดาได้ตั้งสถานีการค้าขึ้นในกรุงศรีอยุธยาในระยะแรกการค้าระหว่างไทยกับฮอลันดาเป็นไปด้วยดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางไทยให้สิทธิพิเศษแก่พ่อค้าฮอลันดาในการผูกขาดการค้าหนังสัตว์จากไทย  นับตั้งแต่ พ.ศ 2140 ฮอลันดา มีอำนาจทางทะเลแข่งขันกับสเปน โปรตุเกส เป็นเวลายาวนานถึง 60 ปี (พ.ศ. 2123 – 2183) พวกฮอลันดาเข้ามาติดต่อค้าขายด้วยในรัชสมัยพระเอกาทศรถ และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากอยุธยา เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของโปรตุเกส ซึ่งทำความไม่พอใจแก่โปรตุเกสเป็นอย่างมาก แม้ว่าราชสำนักไทยยังคงมีความประสงค์จะติดต่อกับโปรตุเกสต่อไปดังเดิม ในปี พ.ศ 2161 ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งทูตไปยังเมืองกัว เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศโปรตุเกส แต่ก็ทำได้ได้เพียงส่งพระราชสาสน์และบรรณาการไปเท่านั้น ตัวทูตไปถึงเพียงเมืองกัว อำนาจของโปรตุเกสทางภาคตะวันออกได้เสื่อมทรามลง จนในที่สุดมะละกาก็ถูกฮอลันดายึดไปได้ใน พ.ศ 2184              ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ 2163 – 2171 ) อยุธยาส่งทูตไปเมืองกัวอีก เพื่อขอบคุณที่โปรตุเกสได้ช่วยเหลือในการรบกับพม่า และยินดียกเมืองเมาะตะมะให้โปรตุเกสใช้เป็นฐานทัพเรือ ในโอกาสนี้ได้ขอให้โปรตุเกสที่เมืองกัวส่งธรรมทูตมาดูแลคริสตชนที่กรุงศรีอยุธยาด้วย เป็นการเอาใจโปรตุเกสไว้ป้องกันภัยจากชาวฮอลันดา แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะเมื่อโปรตุเกสเข้ายึดเรือสินค้าของฮอลันดาใน พ.ศ 2167 อยุธยาใช้มาตรการแข็งกร้าวเข้ายึดเรือโปรตุเกส เพื่อบังคับให้คืนเรือแก่ฮอลันดา ทำให้โปรตุเกสไม่พอใจอย่างมาก ต่อมาใน พ.ศ. 2171 โปรตุเกสยังนำเรือเข้าปล้นเรือสำเภาหลวงและเรือสินค้าญี่ปุ่นอีก   ในรัชกาลต่อมา คือ รัชการพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 – 2198) ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพ่อค้าชาวโปรตุเกสเสื่อมทรามลง แต่เมื่อทางการโปรตุเกสส่งทูตเข้ามาอีกใน พ.ศ 2176 ความสัมพันธ์ก็ค่อยดีขึ้นบ้างจนถึงปลายรัชกาล โดยเฉพาะเมื่อชาวฮอลันดาพยายามจะติดต่อทางการค้าโดยตรงกับญี่ปุ่นโดยไม่ผ่านทางไทย และเมื่อไทยขอร้องให้ฮอลันดาช่วยปราบจลาจลที่ปัตตานีก็ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้เรือไทยถูกปล้นไปด้วย ความ สัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮอลันดาจึงอยู่ในภาวะตึงเครียดตอนปลายรัชกาลนี้ ไทยไม่ยอมขายข้าวให้ฮอลันดา และยังมีข้อพิพาทกันเรื่องเมืองสงขลาและตะนาวศรีอีกด้วย  ความบาดหมางใจกันระหว่างไทยกับฮอลันดารุนแรงขึ้น ฮอลันดาได้ส่งเรือรบมาปิดอ่าวไทย และเรียกร้องสิทธิพิเศษต่างๆ จากไทยมากมาย เช่นฮอลันดามีสิทธิในการค้าขายที่นครศรีธรรมราช ถลาง และหัวเมืองอื่นๆ รวมทั้งสิทธิพิเศษในการพิจารณาพิพากษาคดีคือ ชาวฮอลันดากระทำผิดไม่ต้องขึ้นศาลไทย เป็นต้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับฮอลันดาทำให้ไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์ต่างๆ เป็นจำนวนมากแต่ก็ทำให้เราสามารถรักษาความเป็นเอกราชไว้ได้   ต่อมาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมฮอลันดาเกิดมีปัญหากับอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องการค้า จนทำให้ทั้งสองประเทศได้มีการรบพุ่งกันขึ้นทางเรือ ผลปรากฏว่าฝ่ายอังกฤษเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และได้เลิกติดต่อค้าขายกับอยุธยาแต่อิทธิพลของฮอลันดาก็เริ่มเสื่อมลงในตอนกลางสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะทางกรุงศรีอยุธยาได้ติดต่อกับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อเป็นการคานอำนาจฮอลันดา จนกระทั่งสมัยพระเพทราชาได้ขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ฮอลันดายังมีการติดต่อค้าขายและมีความสัมพันธ์กับอยุธยาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ 2310   อ่านต่อฉบับหน้า