มาตรการรักษาความปลอดภัยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง หลังเกิดเหตุผู้ต้องขังหลบหนีที่ศาลจังหวัดพัทยา และเหตุยิงกันในห้องพิจารณาคดี ศาลจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนายสุรินทร์ ชลพัฒนา เลขาธิการประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา รู้สึกไม่สบายใจและมีความกังวลใจเป็นห่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สั่งการให้สำนักงานศาลยุติธรรมทบทวนตรวจสอบ ดูระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวบุคลากร หรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข
"เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุร้ายแรงไม่คาดฝัน คนร้ายอาศัยช่องว่างของการตรวจสอบตรวจค้นอาวุธเข้าไปได้ ซึ่งปกติจะเข้าไปได้ยาก ประกอบกับคนที่จ้องจะกระทำกับคนที่ระวัง คนที่จ้องก็อาศัยโอกาสกระทำที่เอื้ออำนวยเหมาะสม เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่าศาลยังเป็นสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยเสมอ"
ขณะที่นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการ 3 ส่วน 1.ด้านอาคารสถานที่และการจัดสถานที่คุมขังที่จะวางมาตรการให้เกิดความปลอดภัยไม่ให้หลบหนีที่คุมขังหรือแหกหัก(หมายถึงการหลบหนีจากคุก)หรือทำร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ โดยในส่วนของการปรับปรุงพื้นที่ห้องควบคุมตัวในศาลก็จะต้องมีลูกกรงกั้น 2 ชั้น ซึ่งต้องมีระยะห่างประมาณ 10 -15 เมตร ระหว่างผู้ต้องขังกับญาติที่มาเยี่ยม ขณะที่การสื่อสารระหว่างญาติที่มาเยี่ยมกันสามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารที่ศาลเตรียมไว้ให้พูดคุยกันได้ เพื่อความปลอดภัยไม่ให้มีการลักลอบส่งอาวุธรวมถึงสิ่งต้องห้ามเข้าไปในบริเวณที่ควบคุม โดยยอมรับว่าศาลบางแห่งยังต้องมีการปรับปรุงบริเวณห้องควบคุมตัวให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องมีการดำเนินการแก้ไขต่อไป
2.เรื่องอุปกรณ์ที่สนับสนุนด้านความปลอดภัย เรื่องนี้ตนได้เน้นย้ำให้ทางศาลทั่วประเทศสำรวจเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย พร้อมแจ้งผลกลับมาเพื่อวิเคราะห์ประเมินทั้งหมดว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มจุดไหนบ้าง ส่วนที่วิจารณ์กันว่าบางศาลเข้าได้ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง ตรงจุดนี้ต้องมาทบทวนควรเปิดให้เข้าได้กี่จุด ต้องเพิ่มเครื่องมืออื่นใดเข้าไปอีก เช่น เครื่องตรวจอาวุธหากต้องเพิ่มก็จะพิจารณาของบประมาณต่อไป
3.ส่วนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของศาลเองนั้น ก็มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล (คอร์สมาแชล)ที่ผ่านการฝึกอบรมและตามกฎหมายมีอาวุธประจำกายได้ขณะนี้ที่ได้บรรจุมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2562 จำนวน 35 คน โดยยังไม่ครบตามอัตรา 309 คน ที่เคยกำหนดไว้ในโครงการแต่เราก็จะได้จัดสรรที่มีอยู่เพื่อดำเนินการตรวจและวางมาตรการเสริมความปลอดภัย นอกเหนือจากแต่ละพื้นที่จะมีตำรวจประจำพื้นที่และราชทัณฑ์ ศาลก็ยังมีเจ้าหน้าที่ รปภ.จาก อผศ. ประจำศาลทั่วประเทศเกือบ 2,000 คน ซึ่งกำลังทั้งหมดก็จะเสริมในการตรวจตราอาวุธต่างๆด้วย ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาก็ได้วางระบบให้ทุกส่วนดำเนินการอย่างเคร่งครัดและเข้มงวด และด้วยความในความจำเป็นขณะนี้ในส่วนของคอร์ทมาแชลที่ยังไม่ครบตามจำนวนสำนักงานศาลฯได้เร่งที่จะสรรหาให้ได้ภายในปีหน้า เพราะตั้งเป้าที่จะให้มีคอร์ทมาแชลประจำศาลต่างๆทั่วประเทศ 1-2 คน ซึ่งส่วนนี้จะมีการเสนอคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมหรือ ก.ศ. ของบประมาณที่จะดำเนินการให้ได้ภายในปีหน้า
นอกจากนี้ ยังขอความช่วยเหลือและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะมาศาลหรือไม่มาศาลก็ดีหากมีข้อมูลหรือทราบเบาะแสว่าจะเกิดเหตุร้ายหรือมีสิ่งปกติ ช่วยแจ้งข้อมูลผ่านประชาสัมพันธ์ศาลหรือผอ.สำนักงานประจำศาลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยแล้ว จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่เดินทางมาศาลได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือและจิตสำนึกของทุกฝ่ายด้วย