รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า เป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจจากประชาชนไม่น้อย โดยจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 1,159 คน โดย “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตในประเด็น “การประชุมอาเซียน ครั้งที่ 35” ในสายตาประชาชน ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ ความสนใจของประชาชน ต่อ การประชุมอาเซียน ครั้งที่ 35 หรือไม่? และเพราะอะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 41.24 คือ ค่อนข้างสนใจ เพราะ ได้เห็นท่าทีของผู้แทนประเทศสมาชิกต่างๆ สื่อไทยและต่างประเทศนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง อยากรู้ว่าจะมีความร่วมมือกันอย่างไรบ้าง หวังว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ไม่ค่อยสนใจ ร้อยละ 24.16 เพราะ ไทยเคยจัดประชุมมาแล้วหลายครั้ง บางประเทศไม่ส่งผู้นำเข้าร่วม ไม่ค่อยมีประเด็นที่น่าสนใจ ฯลฯ สนใจมาก ร้อยละ 21.23 เพราะ มีผู้นำจากหลายประเทศเข้าร่วม น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยและอาเซียนโดยตรง เป็นการประชุมสำคัญระดับโลก ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ฯลฯ และไม่สนใจ ร้อยละ 13.37 เพราะ เป็นเรื่องไกลตัว สนใจเรื่องปากท้องชีวิตความเป็นอยู่มากกว่า ไม่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้ได้ ฯลฯ สิ่งที่ประชาชน “ประทับใจ/พอใจ” จากการประชุมครั้งนี้ คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 46.98 คือ การจัดงานสำเร็จด้วยดี เป็นเจ้าภาพที่ดี ไม่มีสถานการณ์วุ่นวาย รองลงมา ได้แก่ มีการลงนามร่วมกัน ผลักดันเรื่องสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ร้อยละ 31.99 และผู้แทนแต่ละประเทศมาร่วมงาน ช่วยสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีในภูมิภาคอาเซียน ร้อยละ 28.64 สิ่งที่ประชาชน “เป็นห่วง/กังวล” จากการประชุมครั้งนี้ คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 49.12 คือ ไม่มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุม รองลงมา ได้แก่ ประเทศไทยอาจเสียเปรียบในบางข้อตกลง ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ร้อยละ 29.24 และการเคลื่อนไหว ชุมนุมประท้วงระหว่างการจัดประชุม ร้อยละ 23.68 ประชาชนคิดว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้มากน้อยเพียงใด? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 44.35 คือ ได้ประโยชน์อยู่บ้าง เพราะ ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้เผยแพร่ชื่อเสียง เอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้ดีขึ้น ช่วยให้บรรลุข้อตกลงได้หลายเรื่อง ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ได้ประโยชน์มาก ร้อยละ 25.80 เพราะ เป็นการกระชับสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เป็นเวทีที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ และชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ฯลฯ ไม่ค่อยได้ประโยชน์ ร้อยละ 19.41 เพราะ จัดการประชุมมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ยังเห็นผลช้า ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ แม้มีการลงนามร่วมกันแต่ก็ยังพบปัญหาที่รอการแก้ไข อีกมาก ฯลฯ และไม่ได้ประโยชน์ ร้อยละ 10.44 เพราะ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ประเทศมหาอำนาจก็ยังประสบปัญหา ยังไม่เห็นทางออก ฯลฯ ประโยชน์ที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม จากการประชุมครั้งนี้ คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 60.67 คือ การลงนามความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รองลงมา ได้แก่ สื่อต่างประเทศนำเสนอข่าว ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้เผยแพร่เอกลักษณ์ความเป็นไทย ร้อยละ 30.79 และได้เห็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำแต่ละประเทศ การเจรจาตกลงร่วมกัน ร้อยละ 28.31 นี่คือ ความคิดเห็นของประชาชนที่สะท้อนให้เห็นคนไทยมองว่าการประชุมดังกล่าวสร้างประโยชน์ ได้ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด ก็คือ ข้อตกลงต่างๆ ที่ได้ลงนามร่วมกันนั้น จะสามารถนำไปขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด? โดยจะขับเคลื่อนได้หรือไม่? ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจด้วยความจริงใจเท่านั้น หรือใครจะกล้าปฏิเสธ..!! แต่ดูจากท่าทีที่ผู้นำซึ่งต่างมีความเห็นตรงกันในการขยายความร่วมมือออกนอกภูมิภาค โดยมีการประชุมทั้งแบบส่วนตัว คือการประชุมแบบทวิภาคี ประเทศต่อประเทศ และการประชุมระดับผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา การเจรจาระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เขตการค้าเสรี RCEP ระหว่าง 10 ชาติอาเซียน กับประเทศคู่ค้า ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งแม้จะยังไม่ได้บทสรุปที่ชัดเจน แต่ทุกฝ่ายก็พยายามหาแนวทางที่จะขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีให้สำเร็จจงได้ ผนวกกับการเจรจาที่ประสบความสำเร็จชัดเจนในด้านกีฬา โดยกลุ่มประเทศอาเซียนได้เซ็นสัญญากับ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า เพื่อพัฒนากีฬาฟุตบอลในอาเซียน ยกระดับมาตรฐานกีฬาฟุตบอลอาเซียน สู่ระดับสากล เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภูมิภาคอาเซียน ร่วมกันเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ฟุตบอลโลก ในปี 2577…ก็น่าจะเป็นนิติหมายอันดีที่แสดงให้เห็นว่า “การประชุมอาเซียน ครั้งที่ 35” ไม่ได้เจรจากันเล่นเล่น…แน่นอน..!! การประชุมอาเซียน ครั้งที่ 35 จะสานต่อประโยชน์ได้มากกว่านี้หรือไม่? ก็คงต้องติดตามกันตอนต่อไป...แต่อย่างน้อยต้องยอมรับว่า “การประชุมอาเซียน ครั้งที่ 35” ได้อะไร? มากกว่าที่คิด จริงจริง..!!