สถาพร ศรีสัจจัง
กล่าวโดยสรุปสั้นที่สุดก็คือ วิธีวิทยาในการแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” ของชาวตะวันตก ที่มีรากฐานทั้งหมดอยู่ที่ “ปรัชญากรีก” ก็คือการดิ่งลึกเข้าไปเรียนรู้ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” (Natural science) ซึ่งแต่เดิมน่าจะมีความสำคัญอยู่ที่ 3 เรื่องหลัก คือ คณิตศาสตร์ (Mathermatics) หนึ่ง วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physics) หนึ่ง และ ดาราศาสตร์ (Astronomy) อีกหนึ่ง กับเรื่อง “คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์” ที่ในปัจจุบันดูเหมือนจะเรียกกันว่าวิชา “มนุษยศาสตร์” นั่นไง ภายหลัง เมื่อวิธีวิทยาทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมีบทบาทนำในกระบวนการศึกษาของชาวตะวันตก หลายส่วนของวิชาทางมนุษยศาสตร์ก็ถูกทำให้แตกแยกส่วนออกไปเป็นสาขาวิชา “วิทยาศาสตร์สังคม” ( Social science) หรือที่สังคมไทยเรียกว่าสาขา “สังคมศาสตร์” เป็นอีกแม่บทหนึ่ง
วิชาที่ถูกเรียกว่า “มนุษยศาสตร์” จึงหลงเหลือเพียงการเรียนรู้ 2 เรื่องใหญ่ คือเรื่อง ความงาม และความดี
ศาสตร์ที่ว่าด้วยความดี ก็คือสาขาวิชาที่เนื่องเกี่ยวกับศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม ส่วนที่ว่าด้วยความงาม
ก็คือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความงามตามธรรมชาติ และศาสตร์ที่ว่าด้วยความงามอันมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ”ทั้งหลายทั้งปวงอันมีเนื้อหาอยู่ใน 3 กรอบใหญ่ คือ ศิลปะการแสดง(Performance) ทัศนะศิลป์(Visual Arts) และวรรณศิลป์(Literature)นั่นเอง
ถามว่า วันนี้ระบบการศึกษาในสังคมไทย มีสถาบันระดับไหนแห่งใดบ้าง? ที่ตระหนักถึง “เป้าหมายของการศึกษา” ดังเช่นที่ว่านี้?
ลองไปทดสอบถามนิสิตนักศึกษาที่เรียนสังกัดในคณะวิชามนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไหนสักแห่งดูก็ได้ว่า
คณะที่คุณเรียนคุณสังกัดอยู่ เขามีปรัชญาเป้ามุ่งในการศึกษาในเรื่องใด ลองสรุปลองนิยามให้ฟังสักหน่อยเถิด รับรองว่าคำตอบของเขาและเธอเหล่านั้นแทบจะไม่เฉียดใกล้เนื้อหาดังที่ ได้กล่าวมาแล้วเลย
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสถาบันการศึกษาปัจจุบันเป็น “สถานที่ฝึกวิชาชีพ” ให้ไปรับใช้ระบบเทเลอร์ของทุนนิยมเท่านั้นเอง เพียงต้องฝึกคนให้เป็น “นักวิชาชีพ” เชิง “ประยุกต์วิทยา” เพื่อเป็น “น็อต เป็นเฟือง หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรของสายพาน” ในระบบทุนนิยมเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มี “ความชำนาญ” ในสาขาวิชาชีพนั้นๆอย่างเป็นพิเศษ ก็จะได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นพิเศษ ซึ่งจะปรากฏรูปให้เห็นในลักษณะ “มูลค่า” เช่น เงิน หรือโภคทรัพย์ต่างๆที่สามารถประเมินมูลค่าได้!
ดังนั้นในระบบเช่นนี้ สิ่งที่เรียกว่า “ความงาม ความดี และความจริง” จะเกิดให้ประจักษ์แก่ผู้เรียนได้อย่างไรเล่า?
ความดี ความงาม และความจริง จึงต้องปรากฏตัวในรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า “สินค้า” เท่านั้น นั่นคือจักต้องสามารถประเมินเป็น “มูลค่า” ได้ว่า จะ “กำไร” หรือ “ขาดทุน”!
ในระบบเช่นนี้ จึงจะก่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า “โปรแกรมเมอร์ลึกลับ” (คือไม่มีใครรู้ว่ามีตัวตนอยู่ที่ไหน)ขึ้น และโปรแกรมเมอร์ลึกลับนี้เองที่เป็นตัวการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “รสนิยม” เช่นก่อเกิดคำว่า “ความทันสมัย” ”ความล้าหลัง”
“ดี” ”ไม่ดี” “มีคุณค่า ไม่มีคุณค่า” “น่ารัก น่าเกลียด” “สวย อัปลักษณ์” ฯลฯ
จะเรียกให้ดูหรูแบบเท่ๆอย่างยุคนายอดัม สมิธ นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ของตะวันตกคนนั้น ก็ต้องอธิบายได้ว่า
“โปรแกรมเมอร์ลึกลับที่คอยกำหนดรสนิยมคนเพื่อเป็นกรอบในการสร้างรสนิยมการบริโภคสินค้าตามที่ระบบทุนผูกขาดกำหนดให้ก็คือสิ่งเดียวกับที่ที่อดัม สมิธ เคยเรียกว่า “มือที่มองไม่เห็น” (The hidden hands) นั่นเอง”
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ระบบคุณธรรมจริยธรรมและศาสนธรรมทั้งหลายที่ผูกร้อยสังคมไทยให้อยู่ในระบบ “รู้พอเพียงตามฐานานุรูป” มาอย่างยาวนานจะไม่ล่มแหลกแตกกระจายได้อย่างไร?
อย่าว่าแต่จะปฏิรูปการศึกษาให้กลับสู่การเรียนรู้ถึงความมนุษย์ว่าต้องเข้าให้ถึงซึ่งความงาม ความดีและความจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเหลือแสนเลย
แค่งานง่ายๆอย่างการปกป้องพิทักษ์รักษาชีวิตชาวบ้านไม่ให้ต้องกลายเป็นเป้าระเบิดเป้ากระสุนโจรถ่อย ถูกล้อมยิงถูกระเบิดจนต้องตายกันเป็นเบืออยู่อย่างที่เห็นๆยังทำไม่ได้เลย อย่างกรณี “ถล่มลำพะยา” ที่ท่านผู้นำประเทศ ไม่เคยโผล่หน้าไปให้เห็นสักแอะนั่นไง ยุ่งอะไรนักหนากันเชียว? ใช้เงินภาษีของพวกเขาไป “แก้ปัญหา” กันจนจะเป็นล้านๆอยู่แล้ว ไม่ละอายแก่ใจกันบ้างหรือไง?!!!!