พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ความเห็นเมื่อถูกถามถึงเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ เวลานี้เป็นเวลาแห่งความร่วมมือร่วมใจของกันและกัน
“ขอได้ไหม ท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ผมขอได้ไหม ไอ้เรื่องเลือกตั้งค่อยว่ากันอีกที มันจะเป็นจะตายกันให้ได้ ผมไม่เข้าใจ ประเทศไทยอันตราย ในช่วงการเปลี่ยนแปลงช่วงนี้ก็ปล่อยให้ทุกอย่างมันเซฟตี้ไปก่อน มีเสถียรภาพมากกว่านี้ เดี๋ยวมันก็เลือกเองแหละ ปีหน้าก็ได้เลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลต้องมีเงินสำรองประเทศไว้ไม่อย่างนั้นไม่อย่างนั้นปีหน้าก็มีปัญหา”
ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องเดียวกันว่าขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือความพร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. จะใช้เวลาเท่าใด ซึ่งต้องถามกกต. และเรื่องงบประมาณของท้องถิ่น ที่ต้องใช้งบประมาณของตนเอง แต่หากท้องถิ่นใดมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ เมื่อพร้อมแล้วจะเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดให้มีการเลือกตั้ง
หากพิจารณาตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระบุ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของกกต. และเรื่องงบประมาณก็คาดการณ์ได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น อาจเกิดขึ้นประมาณมีนาคม 2563 หรือหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นกลายเป็นที่จับตาเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเลือกตั้งใหญ่เดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นภายใต้หลายปัจจัยและเงื่อนไขทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค การไม่ส่งผู้สมัครส.ส.เขตลงในบางพิ้นที่เพื่อให้ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือแม้แต่การเทคะแนนให้กับพรรคการเองบางพรรคเพื่อเอาชนะคู่แข่งทางการเมือง
การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ นอกจากพรรคการเมืองคาดหวังที่จะล้างตาในการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว แต่ละพรรคจะได้พิสูจน์ฐานคะแนนเสียงที่แท้จริง เนื่องจากฐานของท้องถิ่นก็เป็นหัวคะแนนในการเลือกตั้งระดับชาติ เดิมพันการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงสูง
อย่างไนก็ตาม พรรคประชาธอปัตย์เตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายที่้กี่ยวข้องจำนวน4 ฉบับ ปนะกอบด้วย
1. พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งพรรคได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไข ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้วเมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นการเพิ่มสมาชิกสภาเขต (ส.ข.)
2. พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะขอแก้ไขในประเด็น เขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งได้ 1 คน 1 เสียง หรือ วันแมนวันโหวต และแก้ไขเพิ่มจำนวน รองนายก อบจ.ตามสัดส่วนประชากรในจังหวัดนั้น เช่น ประชากรไม่เกิน 750,000 คน มีรองนายก อบจ.ได้ 2 คน ประชากรไม่เกิน 1,500,000 คน มีรองนายก อบจ.ได้ 3 คน ประชากรไม่เกิน 2,000,000 คน มีรองนายก อบจ.ได้ 4 คน ประชากรเกิน 2,000,000 คนขึ้นไป มีรองนายก อบจ.ได้ 5 คน และกำหนดอายุผู้บริหาร อปท.ให้มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป
3. พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)เสนอแก้ไข ให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) หมู่บ้านละ 2 คน กำหนดให้เป็นผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 1 คน เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิสตรีให้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ยุบรวม อปท.ที่มีจำนวน 2 แห่ง ในตำบลเดียวกัน ให้เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ผู้บริหาร อบต.มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป
4. พ.ร.บ.เทศบาล แก้ไขให้ผู้บริหารเทศเทศบาล มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป และใน พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับนี้ จะเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลไม่มีบังคับย้อนหลัง ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันประกาศใช้กฎหมายเป็นต้นไป พร้อมกับเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย ได้ตระหนักถึงความพร้อมในทุกๆ ด้าน