เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เมืองไทยมีสายด่วนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม (1111) มีทนายสายด่วน 24 ชั่วโมง และบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายสายด่วนฟรีอีกมากมาย แต่เพียงพอหรือ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลความรู้และความช่วยเหลือด้านกฎหมาย โดยเฉพาะในยามเร่งด่วนฉุกเฉิน ได้ทดลองโทร.ไปสายด่วนยุติธรรม แม้วันหยุดก็ได้รับบริการ แต่ก็เพียงรับเรื่องไว้เพื่อไปรายงานหรือแจ้งให้บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็แปลว่าในวันและเวลาราชการ ที่สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาก็ให้บริการจันทร์ถึงเสาร์ ให้คำแนะนำดี และยินดีให้ความช่วยเหลือ ส่วนสายด่วนทนายความที่มีมากมายในเน็ต ก็ลองโทร.ไปบางแห่ง ได้รับการตอบรับดี แต่ก็ไม่แน่ใจอีกว่า สำนักงานหรือบุคคลที่รับเรื่องเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือเพียงใด สายด่วน 1167 ของสมาคมทนายความ ที่ได้ตั้งสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายฟรีตั้งแต่ปี 2559 ก็เปิดทำการในวันทำงาน และเวลาราชการ เหล่านี้เป็นกลไกสาธารณะที่เสนอให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่น่าจะทราบข้อมูลเหล่านี้ เพราะไม่ได้สนใจ ไม่นึกว่าชาตินี้จะมีเรื่องมีราวที่ต้องพึ่งนักกฎหมายทนายความ แล้ววันหนึ่งใครจะรู้ว่าจะเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง เกิดอุบัติเหตุ เกิดความข้ดแย้งที่ตกลงกันไม่ได้ เกิดความรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย รวมทั้งกรณีที่เป็นข่าว ไม่ว่าเรื่องแชร์ลูกโซ่ เรื่องตบทรัพย์ลิขสิทธิ์ และอีกหลายเรื่องที่ชาวบ้านถูกหลอก ถูกข่มขู่โดยอ้างโทษอ้างกฎหมาย เมื่อชาวบ้านไม่ทราบว่ามีกลไกช่วยเหลือด้านกฎหมาย เมื่อเกิดเรื่อง หรือถูกข่มขู่ก็ตกใจกลัว ไม่กล้าหารือกับนักกฎหมาย เพราะถูกขู่ว่า ถ้าหารือจะโดนโทษหนัก ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายที่จะปรึกษาทนายความได้เมื่อเกิดปัญหา หรือเมือถูกจับ เหยื่อมักจะเป็นเด็กหรือผู้หญิง ไม่ทราบว่าทุกสถานีตำรวจมีหมายเลขสายด่วนเพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายหรือไม่ อย่างน้อยของสายด่วนกระทรวงยุติธรรม เนติบัณฑิตสภา สภาทนายความ เมื่อมีกลไกดีๆ มากมายก็ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบข้อมูลที่รับช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย และมีการรณรงค์ให้ประชาชนทราบสิทธิของตนเองเมื่อเกิดปัญหา เมื่อถูกจับ กลไกที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด น่าจะอยู่ในระดับชุมชน ซึ่งวันนี้มีการตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนขึ้นในระดับตำบลทั่วประเทศ มีภารกิจหลักๆ คือ ป้องกันและควบคุมปัญหาอาชญากรรมในชุมชน รับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ ความไม่เป็นธรรม ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทหรือความขัดแย้งในชุมชน ช่วยเหลือดูแลผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรม ช่วยเหลือสงเคราระห์ แก้ไขฟื้นฟูผู้พ้นโทษ เป็นวัตถุประสงค์ “แบบราชการ” ที่เน้นการช่วยเหลือ สงเคราะห์ ป้องกันและแก้ปัญหาในชุมชนโดยไม่ต้องไปถึงโรงถึงศาล ซึ่งจำนวนมากเป็นเรื่องมโนสาเร่ รกโรงรกศาล เสียเวลาศาลไปพิจารณาเรื่องคดีใหญ่ๆ ที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลานาน ความจริง ชุมชนในอดีตก็มีปัญหาขัดแย้ง แต่ก็แก้ไขกันเอง โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ดูแลช่วยเหลือไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ทำให้ยังเป็นพี่เป็นน้องกันต่อไป ไม่มีแพ้มีชนะแล้วมองหน้ากันไม่ติด ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบเหมือนวันนี้ที่ไปโรงไปศาลกัน สังคมเปลี่ยนไป กฎหมายมาแทนจารีตประเพณีวิถีชุมชนที่เป็นกฎระเบียบ เป็น “ฮีตคอง” ที่เป็นเหมือน “ข่ายความปลอดภัย” (safety net) เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชน ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่ “ทุนทางสังคม” คือ ความไว้วางใจกัน ความเป็นพี่เป็นน้อง ช่วยเหลือเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกัน กฎหมายที่มาแทนที่ “ทุนทางสังคม” ไม่สามารถแทน “จิตวิญญาณ” ของจารีตประเพณีที่สะท้อนทุนทางสังคมนั้นได้ เพราะกฎหมายเกือบทั้งหมดมาจากการกำหนดโดยรัฐ เสนอโดยหน่วยงานของรัฐ จึงทำหน้าที่ “ควบคุม-ป้องกัน” มากกว่าอย่างอื่น เสนอกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกและให้อำนาจแก่ตน กฎหมายที่กำหนดโดยรัฐจึงเป็นตัวแทนของอำนาจ ซึ่งส่วนใหญ่ “แปลกแยก” จากวิถีชุมชน ประชาชนเป็นเพียง “ผู้ถูกกระทำ” (object) ไม่ใช่ “เจ้าของ” (subject) อำนาจ ผู้ที่รู้กฎหมายจึงมักใช้ช่วงโหว่ หาประโยชน์ กับชาวบ้าน หรือใช้ข่มขู่ชาวบ้านที่ไม่รู้กฎหมายให้กลัว แทนที่ศูนย์ยุติธรรมชุมชนจะทำหน้าที่เพียงช่วยเหลือ สงเคราะห์ ควบคุมป้องกัน ควรทำอย่างน้อยอีก 2 อย่าง คือ 1) ให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ชาวบ้าน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ ชีวิตและผลประโยชน์ของชาวบ้านมากที่สุด เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ถูกรีดไถ ถูกข่มขูจากผู้รู้กฎหมาย หรือผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง 2) สร้างเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายที่มาจากชุมชน จากคุณค่า ภูมิปัญญา ทุนทางสังคมของชุมชน เพื้อให้เกิดขบวนการภาคประชาชนเพื่อยุติธรรมชุมชนที่แท้จริง ไม่ใช่ยุติธรรมชุมชนที่เป็นกลไกของรัฐ แต่เป็นของประชาชน