สังคมกลับมาตื่นตัวอีกครั้งหลังข่าวโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมปิดตัวลง ทำให้วิตกกังวลถึงความเสี่ยงต่อปัญหาการว่างงาน ที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการตลาดแรงงานปีหน้า จะมีนักศึกษาจบมาในระบบอีก 520,000 คนในเดือนเมษายน 2563 อาจต้องประสบภาวะการว่างงานที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การทยอยปิดโรงงานอุตสาหกรรมและการเลิกจ้างงาน เริ่มปรากฏขั้นตั้งแต่เดือนกันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จากรายงานของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ระบุว่าในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 65 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2559 เป็นต้นมา จากระดับ 72.2 มาอยู่ที่ระดับ 70.7 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่าการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหว อยู่ต่ำกว่าระดับ 100 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 57.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 67.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 87.3 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับเดือนก.ย. "ผู้บริโภคยังเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเรื่อง Brexit รวมถึงการที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐจำนวน 573 รายการ" ทั้งนี้ สัญญาณจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปิดตัวลง ทยอยเลิกจ้าง และดัชีนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง เมื่อดูเหตุผลที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันทีนั้น ก็พบว่า มาจากการ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เราจึงคาดหวังว่า มาตรการทางการเงินจะช่วยพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย ให้กระเตื้องขึ้นมาบ้าง เมื่อผนึกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆในช่วงปลายปีของ รัฐบาลที่ผลักดันออกมา จะช่วยเรียกควมเชื่อมั่นกลับมาได้ ไม่มากก็ไม่น่าจะน้อยกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้