"พวกเขาใช้กลยุทธ์เช่นนี้ เป็นกลยุทธ์การก่อการร้าย คือการสร้างเหตุความรุนแรงเพื่อกดดันต่อรัฐ และการทำงาน แล้วเราจะไปกดดันกันเพื่ออะไร ในเมื่อรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนา และสร้างการมีส่วนร่วม เราแก้ปัญหากันอย่างนี้ ไม่ดีกว่าหรือ ส่วนการก่อการร้ายนั้น มีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การยึดพื้นที่ การใช้ความรุนแรง แต่เหตุการณ์นี้เข้าข่ายแค่ใช้อาวุธสงคราม เพื่อกดดันรัฐ แต่หากเราตีความผิด การแก้ปัญหาก็จะผิดและเหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น ท้ายสุดผลกระทบก็จะเกิดกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งวันนี้เราลดระดับผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้มากพอสมควร ประชาชนก็กลับมาให้ความร่วมมือ แม้แต่การบังคับใช้กฎหมายบางตัว ประชาชนก็เห็นด้วย เพราะเขาดูแล้วว่าเกิดประโยชน์กับเขา ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่คนที่มักจะมีปัญหาในเรื่องนี้ คือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะมองในเรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักร หรือกอ.รมน. ให้เหตุผลต่อผู้สื่อข่าวว่าเหตุใดจึงไม่เรียกเหตุกลุ่มคนร้ายยิงถล่มชุดรักษาคามปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.ที่จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาว่า เป็นการก่อการร้าย กระนั้น การจะยกระดับ เหตุการณ์ดังกล่าวให้เป็นการก่อการร้ายย่อมต้องพิจารณาให้รอบคอบในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ปัจจุบันมีความซับซ้อนมากกว่าที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่สั่งสมมาจากอดีตจนปะทุขึ้นมาในปัจจุบัน ประการแรก คือผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าชายแดน น้ำมัน ที่ต่อท่อน้ำเลี้ยงไปยังกลไกต่างๆ ประการที่สอง ประวัติศาสตร์ ที่สร้างบาดแผล ยังไม่มีการชำระ ประการที่สาม ระบบราชการที่มักโยกย้ายข้าราชการบางส่วนที่มีความผิดหรือมีความประพฤติไม่เหมาะสมลงไปในพื้นที่ ยิ่งซ้ำเติมปัญหา ประการที่สี่ ที่ผ่านมางบประมาณที่ใช้ผ่านหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหามักถูกฝ่ายการเมืองนำไปใช้เพื่อสร้างฐานทางการเมืองมากกว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง ประการที่ห้า การแก้ไขปัญหาในอดีตที่ผิดหลักการ ส่งผลกระทบ แบ่งแยกประชาชน ทั้้งที่หัวใจสำคัญไม่ใช่เรื่องของศาสนา อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้พระราชทานยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" หากฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มต้นด้วยคามเข้าใจปัญหาได้อย่างถ่องแท้ ก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทาง