คอลัมน์ ทางเสือผ่าน สมบัติ ภู่กาญจน์ ในข้อเขียนเมื่อสี่ทศวรรษที่ผ่านมา อาจารย์คึกฤทธิ์ ให้ความรู้ถึงสำนวนไทยที่ว่า ‘ยศช้างขุนนางพระ’ ไว้ด้วยเรื่องราว ดังนี้ “ ระบอบการปกครองของไทยสมัยอยุธยานั้น มีข้าราชการหรือขุนนางที่ขึ้นตรงต่อ อรรคมหาเสนาบดี สองคนคือ สมุหนายก ซึ่งรับผิดชอบในการปกครองทางภาคเหนือ และ สมุหพระกลาโหม ซึ่งรับผิดชอบในการปกครองทางภาคใต้ ทั้งสองท่านนี้มีขุนนางใต้บังคับบัญชาอยู่ในสังกัด เพราะฉะนั้น การตั้งขุนนางพระ ก็อนุโลมตามระบอบนี้เช่นเดียวกัน คือมีการตั้งสมเด็จพระราชาคณะขึ้นสององค์ ได้แก่สมเด็จพระวันรัต เป็น ‘เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ’ รับผิดชอบการปกครองสงฆ์และวัดวาอารามที่อยู่ในภาคเหนือทั้งหมด และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ รับผิดชอบการปกครองสงฆ์และวัดทางภาคใต้ และทั้งสององค์นี้ก็มีอำนาจในการแต่งตั้งพระฐานานุกรม คือตั้งให้ภิกษุมีสมณศักดิ์ ได้เช่นเดียวกับที่อรรคมหาเสนาบดีมีอำนาจแต่งตั้งขุนนางให้มีบรรดาศักดิ์ได้เช่นเดียวกัน พึงสังเกตว่าในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีประมุขสงฆ์ที่เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายก เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะนั้นเองแล้ว การปกครองจึงมีแต่เจ้าคณะใหญ่ ซึ่งน่าจะเทียบได้กับอรรคมหาเสนาบดี ซึ่งขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน คำว่าสังฆราชในสมัยอยุธยา จึงใช้เรียกประมุขแห่งสงฆ์ในท้องถิ่นหรือราวๆเจ้าคณะจังหวัด เท่านั้นเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เรียกบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค ซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสมัยอยุธยา คนโบราณใช้ศัพท์นี้เรียกบาทหลวงซึ่งดำรงตำแหน่งบิชอป และหลายคนยังคงเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีขุนนางพระเกิดขึ้นแล้ว ขุนนางพระในตำแหน่งต่างๆจึงเกิดติดตามขึ้นมา และมีการแบ่งชั้นเป็นราชาคณะชั้นธรรม-เทพ-ราช ไปจนถึงชั้นสามัญ หรือที่เรียกกันว่าพระครู ตามภาษาชาวบ้านทั่วไป ส่วนผู้มีหน้าที่ปกครองสงฆ์โดยตรงในแต่ละวัดคือเจ้าอาวาส ซึ่งขึ้นตรงต่อเจ้าคณะในระดับจังหวัดอีกชั้นหนึ่ง เพราะขุนนางพระ ใช้พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน ในรูปแบบเช่นนี้ การบังคับบัญชาสงฆ์ของสังคมไทยในอดีต จึงเป็นที่เรียบร้อยตลอดมา จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก การปกครองสงฆ์ก็แตกตามไปด้วย เพราะสงฆ์เองก็ต้องกระจัดกระจายไปเราจะเห็นได้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ขึ้นครองราชสมบัติ และเริ่มต้นการปกครองประเทศ ท่านก็ยังต้องประกาศนโยบายแจ้งชัดว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี” มีกิจกรรมที่ยืนยันได้แจ้งชัดว่า ได้ทรงสังคายนาพระไตรปิฎก และคัดเลือกพระภิกษุสงฆ์ ผู้มีความสามารถทางบาลีและเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ให้มีตำแหน่งในสมณศักดิ์ต่างๆ มากขึ้น ถึงตรงนี้น่าสังเกตว่า ตำแหน่งพระสังฆราชสกลสังฆปรินายกนั้น ได้เกิดมีขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ที่เพิ่งผ่านพ้นมา” ข้อเขียนผ่านคอลัมน์ข้างสังเวียน ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันยุคช่วงปี สองพันห้าร้อยยี่สิบกลางๆ (ที่แน่นอนคือสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี) ชิ้นแรก สิ้นสุดลงแค่นี้ พอถึงวันรุ่งขึ้น ข้อเขียนชิ้นที่สอง ก็ดำเนินความต่อทันที ว่า “ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกนั้น เมืองไทยต้องสูญเสียทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สิน ผู้คน ทั้งระบอบการปกครองอันเป็นปึกแผ่น ตลอดจนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ศิลปวิทยาการ และอื่นๆอีกมากมาย สำหรับพุทธศาสนานั้น ก็เสียหายอย่างยิ่ง เพราะวัดต้องถูกทำลายหรือละทิ้งกลายเป็นวัดร้าง เพราะสงฆ์เองก็ต้องกระจัดกระจายกันไป บ้างไม่สามารถอยู่ในสมณเพศได้ก็สึก บ้างอยู่ได้ก็อยู่ แต่ปราศจากการดูแลควบคุมใดๆ พอมาขึ้นสมัยกรุงธนบุรี สงฆ์มีโอกาสที่จะรวมตัวขึ้นใหม่ จึงได้มีการตั้งสังฆราช และพระราชาคณะในตำแหน่งต่างๆขึ้นใหม่ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับที่เคยมีเคยเป็นมาในสมัยอยุธยา แต่ความสั่นคลอนของสงฆ์ก็มาเกิดขึ้นอีก เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมากเกินไปจนตระหนักพระราชหฤทัยว่า พระองค์ทรงบรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว โดยที่สงฆ์ส่วนหนึ่งเห็นด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ความขัดแย้งจึงได้เกิดขึ้นมา ในความเห็นส่วนตัวผมเอง ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับศาสนาพุทธในเมืองไทย ซึ่งหากว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือผลัดแผ่นดินเกิดขึ้นแล้ว ศาสนาพุทธในเมืองไทยจะพัฒนาต่อไปเป็นอย่างไรก็ยากที่จะคาดเดาอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงปฏิสังขรณ์พระพุทธศาสนา ด้วยการสังคายนาพระไตรปิฎก บูรณะวัดวาอารามต่างๆ และสถาปนาพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และใช้อำนาจของฆราวาสในการปกครองพระในทางที่ถูกที่ควร นับตั้งแต่เริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมา” ความเป็นมา ที่พุทธศาสนิกชนพึงรู้ นี้เพิ่งจะเริ่มต้น เริ่มแล้วก็เปลี่ยน เปลี่ยนแล้วก็วุ่น วุ่นแล้วก็ปรับ ปรับแล้วก็เริ่ม เริ่มแล้วก็เปลี่ยน เวียนวนอยู่ในภาวะอนิจจังอย่างนี้มาไม่น้อยกว่าร้อยปี ถึงวันนี้ เราอยู่กันที่จุดไหน? มาติดตามเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ให้จบ แล้วค่อยคิด-ก่อนตัดสินใจ- ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปอีก ดีไหมครับ?