มักมีคำกล่าวอยู่เสมอๆ ในสถานการณ์ต่างๆกันว่า คนไทยนั้นเชื่อฝรั่งมากว่าคนไทยด้วยกันเอง จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ทำให้ที่ผ่านมาบางองค์กร หรือบุคคล จึงมักจะพึ่งพาองค์กรที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมรับรอง หรือการันตีในเรื่องต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจบ้านเรา มีการถกเถียงกันพอสมควร โดยในฝั่งของฝ่ายค้านบอกว่าเศรษฐกิจถดถอย แต่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอย แต่เติบโตในอัตราชะลอตัว แม้รัฐบาลจะพยายามอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” และเติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่ฝ่านค้านยังมองว่าไม่ได้ผลและไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นจากโพล ก็ออกมาสวนทางกันของ 2 สำนัก ทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบ ทีนี้ลองไปฟังฝรั่งดูบ้าง ว่าเขามองเศรษฐกิจบ้านเราเป็นอย่างไร ในความเห็นของนางคริสตาลีนา กอร์เกียว่า กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ มองว่า ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ ปัจจัยด้านต่างประเทศ คือความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เป็นตัวเร่งให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนก่อให้เกิดเป็นข้อจำกัดต่อขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน ปัจจัยภายในประเทศ คือต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน หนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคต่างๆ และความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่นางคริสตาลีนา ยังมองว่าประเทศไทยโชคดีที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังมีความเข้มแข็ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ถือเป็นกันชนที่ดี อีกทั้งยังมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกได้ แต่ต้องเก็บไว้ใช้ในภาวะสถานการณ์ข้างหน้าที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ด้วย โดยการเลือกใช้หรือการออกแบบนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องมีการใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช่การให้เงินเพียงอย่างเดียว ต้องมีกลไกมารองรับ และควรคำนึงถึงการยกระดับภาคผลิตของประเทศ เป็นการใช้ความสามารถด้านการคลังเพื่อประโยชน์ในระยะยาวด้วย กรรมการผู้จัดการ ไอเอ็มเอฟ ยังแนะนำนโยบายการเงินของไทย ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 1 ครั้งในปีนี้ และยังมีช่องว่างที่ยังลดได้มากกว่านี้ ทั้งนี้ความเห็นของ กรรมการผู้จัดการ ไอเอ็มเอฟ มีขึ้นก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังแนะนำด้วยว่า สำหรับประเทศไทยอยู่ในภาวะภาคอุตสาหกรรมชะลอลง การลงทุนก็ชะลอลง แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงสูงอยู่ แต่จะเป็นการดีหากประเทศไทยจะอัดฉีดมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ช่องว่างด้านนโยบายการคลัง แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนที่มีประสิทธิผลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ เมื่อฟังความเห็นฝรั่งแล้ว จะเชื่อตามฝรั่งและทำตามฝรั่งกันหรือไม่ ที่สุดแล้วทุกสิ่งก็ไม่พ้นสัจธรรมที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”