สถาพร ศรีสัจจัง
รากทางวิทยาการทั้งปวงของสังคมตะวันตก คือ ยุโรป ที่กลายเป็นรากของสังคมอเมริกาอีกทอดอีกทีคือ “กรีก” สิ่งที่เรียกกว่า “ปรัชญากรีก” จึงเป็นพื้นฐานของวิธีวิทยาที่สำคัญยิ่งของชาวโลกตะวันตกในการ “เข้าใจสรรพสิ่ง” เริ่มตั้งแต่ปฐมบทอย่างการพยายามอธิบายโลกและจักรวาลของ “ทาเลส” (Thales) ที่บอกว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างคือน้ำ มาจากน้ำและจะต้องคืนกลับสู่น้ำในท้ายที่สุด”
จากนั้นก็พัฒนาเรื่อยมา ผ่านอแนกซิมานเดอร์/อแนกซิมิดิส/อแนกซิมานทัส/พีทากอรัส/ซีโนแห่งอีเลีย...เรื่อยมา จนถึงนักปราชญ์ลือนามอย่าง อริสโตเติล โสเครตีส เพลโต ยาวมาจนถึงคนอย่าง เดการ์ตร์/ฟรานซิส เบคอน และอดัม สมิธ เป็นต้น
บรรดา “ศาสตร์” ทั้งหลายทั้งปวงที่นักคิดฝ่ายตะวันตกได้สถาปนาขึ้นจนกลายเป็นวิธีวิทยาเหล่านั้น เมื่อพัฒนามาถึงวันนี้ ที่โลกตะวันออกรวมถึงบรรดา “ชนชั้น” ปัญญาชนผู้มีการศึกษาชาวไทยได้สมาทานมาเป็นสรณะทางความคิดนั้น แท้ที่จริงแล้ว อาจแบ่งออกได้เป็นเพียง 3 สาขาใหญ่ๆ นั่นคือ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ หนึ่ง วิทยาศาสตร์สังคม(คน) หนึ่ง และเรื่องราวที่ว่าด้วย “คุณค่าของคน”(มนุษยศาสตร์) อีกหนึ่ง
แต่โดยแท้จริงแล้ว เมื่อมีระบบสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา และมีการประสาทปริญญาให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้นั้นเรียนจบหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว แต่เดิมฝรั่งมังค่าเขาให้ชื่อปริญญาเพียง 2 สาขาหลัก คือ “วิทยาศาสตร์บัณฑิต” (Bachelor oF science-B.S.)กับ “ศิลปศาสตร์บัณฑิต” (Bachelor of Art-B.A.)
ภายหลังเมื่อวิธีการศึกษาของฝรั่งมังค่าเริ่มเปลี่ยนวิธีวิทยาจากการศึกษาแบบ “องค์รวม” (Holistic)
มาเป็นเแบบ “แยกส่วน” โดยความเชื่อที่ว่าจะสามารถทำให้ “ลงลึก” ในเรื่องนั้นๆได้ยิ่งขึ้นดอก จึงมีการให้ปริญญาชื่อแปลกๆกันมากขึ้น หรือมีการ “วงเล็บ” ชื่อ “วิชาสาขา” ที่เรียน ไว้ในวงเล็บตรงท้ายชื่อปริญญา เช่น วิทยาศาสตร์บัณฑิต(เคมี)/วิทยาศาสตร์บัณฑิต(ธรณีวิทยา) หรือศิลปศาสตร์บัณฑิต(ปรัชญา)/ศิลปศาสตร์บัณฑิต(ภาศาสตร์อังกฤษ)/ศิลปศาสตร์บัณฑิต(รัฐศาสตร์) เป็นต้น
และเชื่อหรือไม่ว่า จริงๆแล้วบรรดาวิธีวิทยาทั้งหลายทั้งปวงของศาสตร์ตะวันตกที่มีพื้นฐานอยู่บนปรัชญากรีกนั้นล้วนมีเป้ามุ่งอยู่ที่การศึกษาเรียนรู้(ทั้งโดยทฤษฎีและปฏิบัติ)เพื่อการบรีลุถึงเรื่องเพียง 3 เรื่อง นั่นคือเพื่อที่จะได้ตระหนักรู้อย่างแท้จริงว่า อะไรคือความจริงแท้? อะไรคือความดีแท้? และอะไรคือความงามแท้?นั่นเอง!
แปลความเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น การศึกษาเรื่องความจริงแท้ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
(Natural Science)และการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สังคมของมนุษย์(Social Science)ทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง
ส่วนการศึกษาเรื่องความดีแท้ ก็ย่อมจะได้แก่ การศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม คุณธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันได้แก่เรื่องที่เกี่ยวศาสนาและลัทธิความเชื่อต่างๆ รวมไปถึงบรรดาวิธีวิทยาทั้งหลาย เพื่อการเข้าถึง “ความดีแท้” ดังกล่าว ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ในเรื่อง “ความงามแท้” ก็ย่อมแปลได้ว่า คือวิชาทางศิลปกรรมทั้ง 3 สาขาใหญ่ คือ ศิลปะการแสดง(Performance) อันประกอบด้วยสาขาสำคัญ เช่น นาฏศิลป์ คีตศิลป์ และกิจกรรมเข้าจังหวะทั้งหลาย เป็นต้น สาขาทัศนศิลป์(Visual Art) อันได้แก่ จิตรกรรม ปฏิมากรรม สื่อผสม การออกแบบ และการถ่ายภาพ เป็นต้น และสาขาวรรณศิลป์ (Literature)
ทั้ง 3 เรื่องที่กล่าวมานั้น นักปราชญ์ในอดีตสรุปว่า มีแต่ “สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เรียกว่าคน” หรือ “มนุษย์” เท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึง พัฒนา และ “สร้างสรรค์” (Create)ขึ้นได้
ที่น่าสังเกตุและตั้งคำถามก็คือ เมื่อถึงยุคนี้ แนวทางการสมาทานวิธีวิทยาในการเรียนรู้ของมนุษย์ยังล้วนเป็นไปเพื่อการดังกล่าวอยู่จริงหรือไม่?
เพราะเห็นมีหลายใครหลายสำนักให้ข้อสรุปตรงกันเหมือนมีข้อนัดหมายไว้ก่อน ว่า ปรัชญาเพียงหนึ่งเดียวที่ตอบคำถามเรื่อง “คุณค่า” สำหรับสายพันธุ์ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” หรือ “มนุษย์” ในยุคปัจจุบัน ก็คือ วิธีวิทยา
(Methodology)ที่ทำให้สามารถผลิตสร้างอะไรก็ได้ที่มี “มูลค่า” ซึ่งสามารถแปรผลเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” ให้ได้สูงสุดหรือมากที่สุดในเวลาที่น้อยที่สุดเท่านั้น!
เงิน จึงคือตัวแทนที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า ความจริง ความดี และ ความงาม ใช่ไหม?!!!