แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เพิ่งปิดฉากลง เกี่ยวกับกรณีที่ผู้นำประเทศมหาอำนาจคู่เจรจา อย่าง นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งสุดท้ายมในวาระดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน เสมือนหนึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ที่สหรัฐฯจะระงับสิทธิ์พิเศษทางด้านภาษีศุลกากรหรือจีเอสพี สินค้าจากไทย
กระนั้น ฉากต่อเนื่องจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เป็นการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการเต็มคณะ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3 ฉบับ
ถ้อยแถลงช่วงหนึ่งของ นายหลี่ เค่อเฉียง ระบุว่า พวกเราได้บรรลุการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้านการเมือง โดยจีนพร้อมผลักดันไทยทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการอีอีซี รวมถึงส่งเสริมเสริมความร่วมมือด้านการค้าข้าว อีคอมเมิร์ซ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจีนมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาของไทยเป็นอย่างมาก โดยช่วงที่มาเยือนประเทศไทย ได้เห็นเรือพาณิชย์วิ่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ทำให้คิดว่าหากทางการไทย-จีน ร่วมมือกัน จะเปรียบเสมือนเป็นเรือใหญ่ วิ่งเร็ว วิ่งไกลอย่างมั่นคง ซึ่งในอนาคตจะต้องวิ่งให้เร็วเหมือนเรือหางยาวอีกด้วย
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ฝากสุภาษิตไทยให้กับนายหลี่ เค่อเฉียง ด้วยว่า “มดน้อยบางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์และพญาคชสารได้”
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ที่กระชับมั่นในห้วงเวลานี้ นับเป็นนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่ทราบกันว่า สหรัฐอเมริกาส่งนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพที่ออกมา สะท้อนถึงการถอยห่างออกจากอาเซียน ทั้งที่สหรัฐฯเป็นผู้มีบทบาทในสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มประเทศอาเซียน
แต่ภายหลังจีนพยายามเข้ามามีบทบาท ในการเล่นบทของผู้มีอิทธิพล ให้ความช่วยเหลือกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินนโยบายอเมริกันเฟิร์ส ที่นำไปสู่การตัดความช่วยเหลือ และสิทธิพิเศษต่างๆ
ขณะที่อินเดียเอง ยังมีปัญหาภายในที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในหลายประเด็น ตรงกันข้ามกับจีนนั้นมีความเป็นเอกภาพภายในมากกว่า และในจังหวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่สหรัฐฯประกาศระงับจีเอสพีสินค้าจากไทยนั้น การเยือนประเทศไทยของนายหลี่ เค่อเฉียงทำให้สหรัฐฯ ไม่อาจมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนไปได้
ก่อนหน้านี้ในการหารือกับผู้แทนสหรัฐระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ผู้แทนของสหรัฐฯ ได้รับประเด็นการระงับจีเอสพีไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง ก็เชื่อว่าผลประโยชน์ทางอ้อมจากการที่นายกรัฐมนตรีของจีนเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ จะส่งผลต่อการพิจารณาของสหรัฐฯให้ถี่ถ้วนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา