แสงไทย เค้าภูไทย
สื่อสับสนผลสำรวจความเห็นซูเปอร์โพล ของม.อัสสัมชัญที่ผลโหวตพบว่าคนไทยชื่นชอบบิ๊กตู่จนถึงขั้นขวัญใจประชาชน ว่าเชื่อได้แค่ไหน
จากกรณีสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง “รัฐมนตรีคนใดขวัญใจประชาชน” ได้ผลออกมาว่า คนที่ประชาชน(ในข่ายสำรวจ)ชื่นชอบมากที่สุดคือนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอันดับสองได้แก่นายอนุทิน ชาญวีระกูล รมว.สาธารณสุข นั้น
มีการวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางว่าเป็นโพลเอาอกเอาใจ “เชลียร์” นายกฯและรัฐบาลออกนอกหน้า
โพลที่มีประเด็นคล้ายคลึงกันนี้ เคยมีการทำกันเมื่อปลายปีที่แล้ว จากอีกสำนัก และได้ผลที่ตรงกันข้าม
โดยเมื่อ ก.ย.2561 มีการเผยแพร่โพลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สุ่มความเห็นของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใน หัวข้อ “อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป”
พบว่าคนไทยชื่นชอบ ทักษิณ เป็นนายกฯที่สุด 24% ธนาธร 19% อภิสิทธิ์ 10% บิ๊กตู่แทบรั้งท้าย ได้แค่ 6%
ทำให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างสองโพลได้ชัดเจน เนื่องจากผลออกมาตรงกันข้าม
ประชากรเป้าหมาย (Target population) ของทั้งสองโพลต่างกัน
ของซูเปอร์โพลเป็นประชาชนทั่วไป ส่วนของม.เชียงใหม่เป็นปัญญาชน วัยรุ่น
แต่หลังการเลือกตั้ง พบว่า คนเลือกพรรคที่อยู่ฝ่ายทักษิณได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ตรงตามโพลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แม้ผลสำรวจชิ้นล่าสุดของซุูเปอร์โพลจะแตกต่างกันด้วยระยะเวลา 1 ปี แต่จากการเลือกสุ่มตัวอย่างและผลงานวิจัยที่ผ่านๆมา ทำให้ความน่าเชื่อถือในสำนักโพลที่เป็นของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นที่กังขา
เพราะหัวข้อวิจัยและผลสรุปที่โพลนี้ทำขึ้นมาในต่างกรรม ต่างวาระ เมื่อนำมาเผยแพร่ สื่่อมวลชนนำไปพาดหัวข้อข่าว นั้น
ออกจะเอนเอียงไปทาง “เชียร์” บิ๊กตู่และรัฐบาลเห็นได้ชัด เช่น
“ซูเปอร์โพล ชูเกินครึ่งอยากให้ บิ๊กตู่อยู่ครบ 4 ปี (Workpoint News)”
“Sept 28,2019 "ซูเปอร์โพล"เผยความสุขคนไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วง 12 ปีที่ผ่านมา "
“Aug 18, 2019 -ซูเปอร์โพลชี้ ประชาชนไม่เห็นด้วย โจมตี 'ปมถวายสัตย์ฯ บิ๊กตู่ "
"ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสร้างผลงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่เหมาะสม...”
ฯลฯ
หัวใจสำคัญที่จะก่อเกิดผลสัมฤทธิ์ในงานวิจัยสำรวจความเห็นก็คือคำถามในแบบสำรวจ
การออกแบบ Questionnaire Design Process (กระบวนการออกแบบคำถาม) นั้นสามารถบิดเบือนหรือตีกรอบให้คนตอบ ตอบตามความต้องการของผู้ออกแบบคำถามได้
อย่างเช่นเลือกกลุ่มที่ได้รับเงิน”ชิมช้อปใช้” มาเป็นประชากรสำรวจแล้วป้อนคำถามว่า “ท่านใช้เงินที่ได้ไปทำอะไรบ้าง” โดยมีชอยส์ว่า 1.ซื้อสิ่งของจำเป็นในครัวเรือน(ยกตัวอย่าง ข้าวสาร อาหารกึ่งสำเร็จรูป เสื้อผ้า ของใช้ ฯลฯ) 2.ท่องเที่ยว กินอาหาร เครื่องดื่ม 3.ฯลฯ หรือทั้งหมด
อันเป็นพฤติกรรมที่ผ่านไปแล้ว ประชากรเหล่านั้นได้รับผลจากเงินแจกดังกล่าวแล้ว ย่อมมีผลต่อความพึงพอใจ
จึงตอบคำถามด้านบวกต่อคำถาม “ชอบไหม” “มาก -ปานกลาง-น้อย -ไม่ชอบ”
หรือ “ถ้าจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนจะชอบไหม” เป้าหมายที่ต้องการคือคำตอบ “ชอบ”ทุกคน
คำถามนี้ถ้าไปถามคนที่มีการศึกษา นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ คนที่มีฐานะดีไม่ต้องไปแย่งเงินกองนี้ ก็จะได้คำตอบ(คำถามปลายเปิด) ทำนองว่า เป็น “นโยบายสิ้นคิด”
เพราะรู้ดีว่า เงินเหล่านี้ เหมือนน้ำหยดบนผืนทราย ถูกดูดหายแล้วผืนทรายก็กลับแห้งตามเดิม
ต่างจากการสร้างระบบชลประทานเข้าสู่พื้นที่แห้งแล้งให้คนเพาะปลูกได้ มีรายได้จากผลผลิต มีกำลังซื้อ เงินหมุนเวียนไปทั่ว
การออกแบบคำถามนี้จึงเป็นคำถามปลายปิด หรือชี้นำ ไม่ได้ให้ผู้ตอบหรือประชากรสำรวจได้แสดงความคิดเห็นเสรี
ทำให้ได้คำตอบตามเป้าหมายของคนทำโพลเลือกมา ไม่ใช่ทำเป็นช้อยส์ให้คนเลือก
มีการตะล่อมให้เข้าประเด็นสำคัญที่เมื่อเผยแพร่ออกไป จะมีสื่อมวลชนสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อดิจิทัล เอาไปตีความไปทางเดียวกันอย่างเช่น
“เห็นเป็นนโยบายที่ดีของรัฐบาลนี้ไหม ?”
“ท่านชื่นชมนายกรัฐมนตรีผู้ขับเคลื่อนมาตรการนี้ไหม ?”
ผลสรุปโพลมักจะมีผลกระทบที่รุนแรงไม่ต่างไปจากข่าวที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ
อย่างกรณีที่อาจารย์นิด้าทำโพลสำรวจความห็นในประเด็น “นาฬิกายืมเพื่อน”เป็นต้น
รุนแรงถึงทั้ง object คือเป้าหมายสำรวจและตัวผู้ทำโพล
อาจารย์ผู้ทำโพลถูกแทรกแซง ถูกกดดันจากอำนาจมืด ถึงกับลาออก
อำนาจมืดลักษณะนี้ จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน ตราบเท่าที่ทหารยังค้ำบัลลังก์รัฐบาลชุดนี้ไม่คลอนแคลน