ชื่อของ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาอยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลต์ทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่มีการโยนชื่อดังกล่าวให้เข้ามามีบทบาทในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
โดยเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่าจะมีนายอภิสิทธิ์ เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการฯด้วยหรือไม่ โดยนายเทพไทระบุว่าขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ แต่ส่วนตัวเห็นว่านายอภิสิทธิ์ เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นกรรมาธิการฯชุดนี้ เพราะมีความรอบรู้ในเรื่องรัฐธรรมนูญ และมีจุดยืนในเรื่องประชาธิปไตยชัดเจน
กระแสข่าวไปไกลถึงการผลักดันให้นายอภิสิทธิ์เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เห็นว่านายอภิสิทธิ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นอดีตนายกฯเป็นอดีตหัวหน้าพรรค หากเข้ามาเป็นกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะอยากให้กมธ.แก้ไข รัฐธรรมนูญมีความหลากหลายมากที่สุดมาจากทุกฝ่าย
ต่อข้อถามที่ว่า จะมีการสนับสนุนให้ยนายอภิสิทธิ์ เป็นประธานกรรมาธิการฯหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่ขัดข้อง แต่ขึ้นอยู่กับวิปและสภาที่ต้องหารือกัน แต่คนที่จะมาทำหน้าที่ขอให้มีความตั้งใจและจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ต่อมาคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้ให้ความเห็นถึงกระแสการผลักดันนายอภิสิทธิ์เป็นประธานกรรมาธิการฯ โดยคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ก็มีสิทธิ เพราะกรรมาธิการฯ สามารถเป็นคนนอกได้
ข่าวนี้ย้อนกลับมาที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งได้รับคำตอบจากนายจุรินทร์ โดยปฏิเสธที่จะพูดถึงตัวบุคคล แต่ขอพูดในหลักการคือ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะเป็นผู้พิจารณาว่าใครจะไปเป็นกรรมาธิการ และหลังจากได้ตัวกรรมาธิการฯครบ จะพิจารณาว่าใครจะเป็นประธาน รองประธาน ตำแหน่งไหนในกรรมาธิการฯวิสามัญ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมาธิการ ซึ่งต้องรอคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาลเป็นผู้รอพิจารณาอีกขั้นหนึ่ง ว่าควรจะเป็นใครอย่างไร เพราะเป็นกลไกที่เราทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ต้นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล และจำเป็นจะต้องหารือกันในวิปรัฐบาล เพราะซีกรัฐบาลมีความสำคัญต่อความสำเร็จเหมือนกัน และจะเป็นความสำเร็จของทุกฝ่าย เพราะการแก้รัฐธรรมจะสำเร็จได้ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล แต่ต้องรวมไปถึงวุฒิสมาชิกด้วย นั้นแปลว่าจะต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน
เมื่อหันไปดูในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล มีเสียงจากพรรคพลังประชารัฐ สะท้อนผ่านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะวิปรัฐบาล ยืนยันว่าจะเสนอชื่อคนในพรรค เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ
อาจเป็นนายวิรัช รัตนเศรฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานวิปรัฐบาล หรือนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรคพปชร. หรือแม้แต่ตนเอง และพูดชัดเจนว่าเป็นเรื่องปกติของกรรมาธิการคณะใหญ่ๆ ที่ประธานกรรมาธิการฯจะต้องมาจากพรรคที่เป็นแกนนำพรรครัฐบาล แต่เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นแกนนำพรรครัฐบาล การเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์นั้นมีสิทธิที่จะเสนอได้ แต่ตามหลักและมารยาท จะต้องเป็นพรรคใหญ่ที่สุดของรัฐบาลเป็นประธานกรรมาธิการ
น่าสนใจด้วย ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค เพื่อรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนในการไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จึงต้องจับตาว่านายอภิสิทธิ์จะได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ในสภาฯในฐานะกรรมาธิการฯ หรือ ประธานคณะกรรมาธิการฯ หรือไม่ เหนืออื่นใดที่ต้องให้ความสนใจ คือประชาชนจะได้อะไรจากคณะกรรมาธิการชุดนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และปฏิรูปการเมืองอย่างไร