ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.ระบุว่า ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่ยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคโดยยังดำเนินการอยู่ จำนวน 85 พรรคการเมือง โดยพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกพรรคมากที่สุด จำนวน 132,551 คน รองลงมาคือพรรคอนาคตใหม่มีสมาชิก จำนวน 44,859 คน พรรคภูมิใจไทยมีสมาชิก จำนวน 30,450 คน พรรคพลังประชารัฐมีสมาชิก จำนวน 25,458 คน พรรคเพื่อไทยมีสมาชิก จำนวน 22,771 คน พรรคชาติไทยพัฒนามีสมาชิก จำนวน 21,387 คน พรรคเพื่อชาติมีสมาชิก จำนวน 18,850 คน และพรรคชาติพัฒนามีสมาชิก จำนวน 15,947 คน เป็นต้น
ทั้งนี้มีพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ไปแล้วจำนวน 30 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาราช พรรคพลังอุดร พรรคกิจสังคม พรรคประชาสันติ พรรคอาสาสมัครไทย พรรคคนไทย พรรคพลังพลเมือง พรรคมาตุภูมิ พรรคเสรีนิยม พรรคพลังไทยเครือข่าย พรรครักษ์สันติ พรรคพลังเกษตรกรไทย พรรคเอกราชไทย พรรคเพื่ออนาคต พรรคธรรมาภิบาลสังคม พรรคเงินเดือนประชาชน พรรคเพื่อฟ้าดิน พรรครักประเทศไทย พรรคพลังเครือข่ายประชาชน พรรคพลังประเทศไทย พรรครวมพลังไทย พรรคชาติไทยสามัคคี พรรคปฏิรูปไทย พรรคมหาประชาชน พรรคสร้างไทย พรรคไทยมหารัฐพัฒนา พรรคเพื่อสันติ พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พรรคยางพาราไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป
ส่วนพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มีจำนวน 1 พรรค คือ พรรคไทยรักษาชาติ
ขณะที่งานวิจัยของ นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสติธร ธนานิติโชติ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ในหัวข้อ “ความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตย : ศึกษากรณีพรรคการเมืองไทยภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560” นั้น แบ่งพรรคการเมืองออกเป็น3 รูปแบบด้วยกัน
1.พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้การนำของคนๆเดียว หรือเอกบุคคล (the one) เวลาจะเลือกตั้ง ผู้สมัครต้องวิ่งเข้าหาคนๆเดียว เช่น พรรคของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีหลากหลายชื่อพรรค เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ความเป็นสถาบันพรรคการเมือง ไม่ควรขึ้นกับคนๆเดียว ไม่เช่นนั้นหากมีเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น พรรคนั้นจะหมดสภาพไปทันที ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค
2.พรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การนำของคนๆเดียว แม้จะมีหัวหน้าพรรคก็ตาม แต่เป็นลักษณะคณะบุคคล (the few) แต่คณะบุคคล อาจหมายถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค แต่มีอำนาจเงินและมีอิทธิพลในพรรค ซึ่งพรรคที่เข้าข่ายคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคแบบนี้มีความเป็นสถาบันพรรคการเมืองมากกว่าแบบแรก และยั่งยืนกว่า
และ3.การไม่ให้อำนาจคนส่วนใหญ่ แต่ต้องมีคณะทำงาน ซึ่งมีความเป็นองค์รวม และให้ฐานอยู่ที่ประชาชนคนหมู่มาก (the many) เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งที่ผ่านมาพรคการเมืองไทย ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการจัดตั้ง และกำหนดทิศทางการเมืองของพรรคน้อยมาก ดังนั้นพรรคการเมืองต้องมีส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วน จึงทำให้เกิดความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม นายไชยยันต์ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ หากยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง จะเกิดปรากฏการณ์ที่พรรคขนาดเล็กวิ่งเข้าหาพรรคใหญ่ จนเกิดการควบรวมพรรคและทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเหลือไม่กี่พรรคการเมือง
กระนั้น จากผลการวิจัย เป็นข้อมูลสำคัญที่พรรคการเมืองต้องนำไปทบทวนและสังเคราะห์ออกมาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาพรรคการเมืองและเป้าหมายในการปฏิรูปการเมือง ไม่ให้เป็นแค่พรรคเฉพาะกิจที่รอวันล่มสลาย