แม้จะมีข่าวร้ายๆทางเศรษฐกิจ กรณีสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี ออกมาสร้างความหวั่นไหว
ข้อมูลจากนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือโมเดิร์นเทรด ไตรมาส 3 ว่ากลุ่มผู้ประกอบการ 92 ตัวอย่าง มีความเห็นว่า ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อธุรกิจโมเดิร์นเทรด คือ สถานการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วมหนักปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 การส่งออกมีสัญญาณการหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีข้อยุติ การท่องเที่ยวชะลอตัวและอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในระดับไม่สูง ส่งผลต่อระดับรายได้ของครัวเรือน การแข่งขันของธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ภาระหนี้สินของครัวเรือนและสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจทำให้การบริโภคยังไม่มีการขยายตัว
ส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ โมเดิร์นเทรด ไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.0 ต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.4 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าธุรกิจประสบกับปัญหามาตรการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้ของธุรกิจ รวมทั้งขาดข้อมูลนโยบาย ส่งเสริม ผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ของภาครัฐในปัจจุบันและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับโมเดิร์นเทรด
แต่ศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ไปแล้วและจะปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 4 พร้อมกับคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวร้อยละ 3.1 และตลอดปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.8 สอดคล้องกับการประเมินของที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.
ทั้งนี้จากสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ การลดข้อจำกัดในการใช้บริการมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เช่น การเพิ่มร้านค้ารายย่อยและขอให้สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ร้านนอกกลุ่มธงฟ้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลเอง แม้จะมีเสียงวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต่อ โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ต่างๆนานา แต่กระแสตอบรับของประชาชน ก็ทำให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะล่ล่าสุด กำลังจะขยายออกไปในระยะที่ 3 แล้ว
โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ให้กระทรวงการคลังไปศึกษาถึงการทำโครงการชิมช้อปใช้ เฟส3หลังจากโครงการเฟส2เพิ่งเต็มไป โดยจะต้องประเมินผลมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส1และเฟส2เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาให้ดีขึ้นโดยยืนยันว่าการทำโครงการชิมช้อปใช้ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมให้คนไปฟุ่มเฟือยแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศการท่องเที่ยวในระดับชุมชนเพื่อชดเชยภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบเศรษฐกิจต่างประเทศ
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ได้รับรายงานจากธนาคารกรุงไทยว่ายอดลงทะเบียนชิมช้อปใช้เฟส2เต็มจำนวนทั้ง3ล้านคนแล้ว ทำให้รวมทั้งหมดมีผู้ลงทะเบียนร่วมมาตรการชิมช้อปใช้อยู่ที่13ล้านคนและจะมีสิทธิใช้จ่ายผ่านแอพฯจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 62
ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 กระทรวงการคลังต้องขอเวลาประเมินผลมาตรการชิมช้อปใช้เฟสที่1กับ2ก่อนโดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลา1เดือนซึ่งต้องรอดูก่อนว่ามาตรการที่ออกไปแล้วจะมีผลอย่างไรบ้างเพราะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการข้างต้น รัฐบาลอาจนำมาปรับปรุงโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” และมีความเป็นไปได้ ที่มาตรการดังกล่าวอาจมีการต่อยอดและพัฒนาจากมาตรการชั่วคราว เป็นมาตรการในระยะยาวได้