ความวิตกกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้าที่ยังไม่นิ่ง ส่งผลกระทบไปทั่วโลกไม่เว้นแม้ประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ประเทศไทยยังต้องเตรียมรับมือกับ กรณีสหรัฐระงับสิทธิภาษีศุลกากร (GSP)จำนวน 573 รายการ มูลค่า 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยข้อมูล ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI)เดือนกันยายน 2562 อยู่ ที่ 97.5 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.73% และเป็นค่าดัชนีฯที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือนส่งผลให้ MPI 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 103.12 ลดลง 2.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามสศอ.จะติดตามปัจจัยต่างๆ ทั้งสงครามการค้า ค่าเงินบาท รวมถึงการถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP)ล่าสุดก่อนที่จะมีการทบทวน MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ภาคอุตสาหกรรมปี 2562 อีกครั้งในเดือนพ.ย.นี้
ขณะที่ MPI ไตรมาส 3 ของปีนี้(ก.ค.-ก.ย.62 )อยู่ที่ 99.35 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.15% แต่สัญญาณในไตรมาส 4 เราหวังว่าน่าจะฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาทิ ชิมช้อปใช้เฟส 2 ไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้แต่ก็ยอมรับว่าการส่งออกค่อนข้างชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ดังนั้น MPI และจีพีดีภาคอุตสาหกรรมที่คาดการณ์ไว้ปีนี้จะอยู่ที่ 0-1% นั้นคงจะมีการทบทวนในเดือนพ.ย.โดยระหว่างนี้คงต้องติดตามปัจจัยต่างๆอย่างใกล้ชิดโดยยอมรับMPIมีแนวโน้มจะปรับลด
สำหรับกรณีที่สหรัฐฯระงับการให้สิทธิ GSP กับสินค้าไทย 573 รายการนั้น ล่าสุดสศอ.ได้ขอความร่วมมือให้สถาบันต่างๆภายใต้สังกัดกระทรวงฯอาทิ สถาบันยานยนต์ สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ ฯลฯ รวบรวมผลกระทบเพื่อที่จะหามาตรการดูแลในระยะต่อไปโดยคาดว่าจะสรุปได้ในเดือนพ.ย. อย่างไรก็ตาม สศอ.พบว่าภาคอุตสาหกรรมใช้สิทธิ GSP จริงเพียง 300 กว่ารายการเท่านั้น เบื้องต้นมองว่าผลกระทบไม่มากนัก ขณะเดียวกันGSPที่เราถูกตัดนั้นผลกระทบแต่ละตัวจะต่างกันมาตรการดูแลอาจต่างกันไป แต่ทั้งหมดมองว่าหากไทยสามารถแข่งขันตลาดโลกได้โดยไม่มี GSP จะมีความยั่งยืนกว่า”นายทองชัยกล่าว
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายน 62 อยู่ที่ 63.87% ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือนเช่นกัน นับตั้งแต่พ.ค. 62 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI และอัตราการใช้กำลังการผลิต เดือนก.ย.ได้แก่ อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันที่ลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากโรงกลั่นบางแห่งมีการหยุดซ่อม ยางอื่นๆที่ไม่ใช่ยางล้อลดลง 21.3% จากการบริโภคที่ชะลอตัว เช่นเดียวกันอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลง 5.2% เป็นต้น
ทั้งนี้ประเทศไทย ยังมีเวลาอีก 6 เดือนในการเจรจากับสหรัฐ ว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ระงับสิทธิดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล จะต้องดูเงื่อนไขในการเจรจา ซึ่งต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน ขณะเดียวกันก็เตรียมความพร้อมในส่วนของผู้ประกอบการและภาคเอกชนต่างๆ รวมทั้งเตรียมมาตรการออกมารองรับหากเกิดผลกระทบในทางร้ายที่สุดด้วย