เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นในโลกโซเชียลหลังการเลิกจ้างพนักงาน และประกาศปิดตัวของบริษัทแห่งหนึ่ง ในนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้พนักงานกว่า 400 คน ต้องกลายเป็นคนว่างงานไปในทันที สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สังคมกลับมาตื่นตัวต่อปัญหาการว่างงานอีกครั้ง และมองไปถึงผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว โดยก่อนหน้านี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย วิเคราะห์ว่าสงครามการค้า สหรัฐฯและจีน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีผลให้การส่งออกไทยปีนี้ ติดลบ 1.5-2% และสะท้อนไปยังการจ้างแรงงานที่เริ่มชะลอตัวลง เพราะภาคอุตสาหกรรม ทยอยลดกำลังการผลิตลง นายธนิต ระบุว่า สิ่งที่ต้องจับตามองคือความเสี่ยงของตลาดแรงงานปีหน้า ที่จะมีมากขึ้นเมื่อนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบอีก 520,000 คน ในเดือน เมษายน2563 อาจต้องประสบกับภาวะการว่างงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงานในภาคส่วนต่างๆ อาทิ ส่งออก การผลิต การบริการค้าปลีกและค้าส่ง เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงชะลอตัวลง โดยมีการลดการรับแรงงานใหม่ และมีการปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ ทำให้การจ้างงานลดลง “ผลกระทบที่เริ่มเห็นสัญญาณคือ การทยอยปิดโรงงานและการเลิกจ้างงาน เมื่อเดือน ก.ย. โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร ที่ปิดกิจการและบางโรงงานลดการจ้างแรงงานใหม่ และจากนี้ไปก็จะเห็นภาพการเลิกจ้างแรงงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น ในพื้นที่ที่มีการตั้งโรงงานที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก อาทิ โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร โดยสัญญาณการเลิกจ้าง จะเริ่มจากมาตรการขนาดเบา ไปจนถึงการให้ออกจากงานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การไม่รับพนักงานคนใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง, การใช้หุ่นยนต์, การเลิกใช้บริการเอาต์ซอร์ซ ที่เกี่ยวกับแรงงาน, การลดค่าล่วงเวลา” (ไทยรัฐ:วันที่ 8 กันยายน 2562) ขณะเดียวกันมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งจาก กระทรวงแรงงานระบุว่า จากสถานการณ์ออร์เดอร์ลดลง ทำให้โรงงานหลายโรงงานต้องปิดกิจการชั่วคราว และใช้มาตรการตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้มีการจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อดึงลูกจ้างเหล่านั้นไว้กับตัวเอง เพื่อรอเวลากลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง เพราะไม่อยากมีการจ้างงานใหม่ ต้องมาฝึกคนทำงานใหม่อีก ทั้งนี้ประเภทกิจการที่ดูแล้วอาจจะมีแนวโน้มหยุดกิจการชั่วคราว คือกิจการอิเล็กทรอนิกส์ “ถ้าถามว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่นั้น คิดว่าคงไม่ใช่เพราะว่าเป็นประเภทกิจการเท่านั้น บางประเภทกิจการอาจจะมีออร์เดอร์ลดลง แต่บางประเภทกิจการ ออร์เดอร์ดีขึ้น โดยเราดูจากการเข้าออกของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม” นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุ (เดลินิวส์:วันที่ 27 ตุลาคม 2562) อย่างไรก็ตาม สัญญาณการปิดโรงงาน และการเลิกจ้างงานยังคงเกิดขึ้นในหลายภคธุรกิจ รวมทั้งการคาดการณ์สถานการณ์ว่างงานในปีหน้าที่น่าเป็นห่วงนั้น เป็นการบ้านของรัฐบาลที่จะต้องเร่งผลักดันมาตรการออกมา เพื่อรองรับปัญหาและประคับประคองไว้ก่อน