ทวี สุรฤทธิกุล คำกล่าวนี้ทำให้เรารู้ว่าทหารกับนักการเมืองไทยมีความสัมพันธ์กันในลักษณะใด ข้อความเต็มๆ ก็คือ “การเมืองยุคนี้ หากเปรียบเทียบกับสลากฯ การเมืองยุคใหม่ เหมือนสลากกินรวบ แต่การเมืองแบบเก่า เหมือนสลากกินแบ่ง ซึ่งอาจจะมีมิตรแท้น้อย แต่ไม่มีศัตรูถาวร พูดแบบนี้ นักการเมืองเข้าใจได้ดี จะได้เลือกได้ว่า ชอบแบบไหน” โดย “บิ๊กแดง” หรือพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ที่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นนายทหารที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย ได้ส่งข้อความนี้ไปยังสื่อมวลชนสายทหาร ภายหลังการเข้าชี้แจงกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งคอลัมนิสต์และสื่อจำนวนหนึ่งวิจารณ์ว่า นี่คือการแสดง “ความเหนือ” หรือ “ของจริง” ในการเมืองไทย ที่ทำให้นักการเมืองทั้งหลาย “จ๋อย” และต้อง “เจียมเนื้อเจียมตัว” ความจริงนั้นประเทศไทยอยู่กันในแบบ “พึ่งพาอาศัยกันและกัน” มาโดยตลอด การอยู่ด้วยกันในรูปแบบนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ระบบอุปถัมภ์” ที่ผู้ใหญ่คอยโอบอุ้มและช่วยเหลือแก่ผู้น้อยเท่านั้น แต่เป็นการอยู่ด้วยกันใน “ระบบพวกพ้อง” หรือ “เพื่อนพ้องน้องพี่” ที่ทหารเองก็คุ้นเคยเป็นอย่างดี อย่างวาทะของนายทหารบางคนที่เคยพูดไว้ว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” นี่ก็เป็นคำกล่าวที่ทหารก็เชื่อถือกันอยู่โดยทั่วไป ดังนั้นในความเห็นของผู้เขียนจึงมองไปแค่ว่า นี่คือการแสดงความเป็นพรรคเป็นพวก “ความเป็นกันเอง” กับนักการเมืองนั่นเอง ทำให้เราทราบว่าทหารกับนักการเมืองนั้นก็เป็นเพื่อนกันได้ ขอแต่ให้นักการเมืองแสดงตนว่าจะเป็นคนแบบไหน ระหว่างนักการเมืองแบบเก่าที่ชอบกินรวบ กับนักการเมืองแบบใหม่ที่กินแล้วแบ่ง หรือถ้าจะตีความแบบชาวบ้านก็คือ นี่คือ “การแซว” ซึ่งคนที่จะแซวกันได้นั้นก็ต้องมีความสนิทสนมกันพอควร เพราะถ้าไม่สนิทกันจริงแล้ว ขืนมาแซวกันแบบนี้ก็อาจจะ “มีเคือง” หรือโกรธกันได้ง่ายๆ ในทำนองเดียวกันที่คอลัมนิสต์และสื่อจำนวนหนึ่งมองการแซวของบิ๊กแดงในครั้งนี้ว่า เป็นการแสดงให้สังคมรู้ว่า “ไผเป็นไผ” ซึ่งเป็นการมองตามสภาพความสัมพันธ์ทางการเมืองใน “แบบเก่า” ที่ยังเชื่อว่าทหารคือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในสังคมไทย แต่ถ้าหากจะมองตามวิถีที่ควรเป็นในสังคมการเมือง “แบบใหม่” การแสดงความเหนือกว่าแบบนี้ก็อาจจะดูแปลกประหลาดไปพอสมควร หรือบางทีอาจจะเป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ” ในสายตาของคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็นั่นแหละนี่ก็เป็นเพราะว่า คนไทยจำนวนมากยังคุ้นเคยและมีความสุขดีในสภาพสังคมการเมืองแบบเก่าๆ ที่เราต้องพึ่งพิงทหาร และต้องการ “ผู้นำที่เข้มแข็ง” ในการปกครองดูแลประเทศ รวมทั้งคนที่เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นมีแต่ความวุ่นวาย ซึ่งท้ายที่สุดทหารนั่นเองที่เข้ามาจัดการให้ “สงบเรียบร้อย” ความรู้สึกดังกล่าวไม่ได้มีอยู่แต่ในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยหลายๆ คนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักการเมืองที่ยังยินดีที่จะขอความคุ้มครองจากทหาร ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งตลอดเวลา 80 กว่าปีที่เราได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมานี้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำทหารนั่นเองแม้เข้ามาเล่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็ยังรู้สึกว่าถ้าได้ทหารมาคอยค้ำจุนอำนาจให้กับตนก็จะยิ่งมีความ “อุ่นใจ” เพราะเสมือนอยู่ภายใต้การดูแลกันและกันของ “เพื่อนพ้องน้องพี่” แบบที่ตนเองคุ้นเคยมาตลอดชีวิตนั่นเอง ความจริงนั้นทหารก็คือข้าราชการพวกหนึ่ง มีสายการบังคับบัญชาและมีกฎระเบียบควบคุมอย่างเคร่งครัดเป็นปกติทั่วไป แต่ในตำรารัฐศาสตร์ไทยก็ยอมรับกันว่า ทหารก็เป็น “กลุ่มอิทธิพล” อีกพวกหนึ่ง ที่ไม่อาจจะตัดขาดออกจากระบบการเมืองไทยได้ เพียงแต่ว่าทหารนั้นจะมีอำนาจตามตำแหน่งและมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนั้นตามกฎหมายของทางราชการ เมื่อหมดอำนาจหรือพ้นจากตำแหน่งบังคับบัญชานั้นไป ทหารก็จะหมดอำนาจตามไปด้วย ดังนั้นในระบบการเมืองไทยทหารจึงมีความพยายามที่จะ “ต่อยอด” และ “สืบทอด” อำนาจนั้นอยู่เป็นปกติ อย่างที่มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่า การมีวุฒิสภาในแต่ละยุคสมัยโดยเฉพาะในยุคที่มีผู้นำมาจากทหาร ก็มักจะแต่งตั้งข้าราชการทหารเข้าไปเป็นสมาชิกให้พอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นทหารที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ วุฒิสภาจึงเป็นเสมือน “ศาลาพักใจ” ให้เพื่อนพ้องน้องพี่ได้เข้าไปอยู่อาศัยกันอย่างอบอุ่นนั่นเอง ซึ่งก็จะทำให้ผู้นำทหารมีความอบอุ่นและรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นเช่นเดียวกันอีกด้วย อย่างไรก็ตามทหารในยุคใหม่ก็พยายามสร้างความมั่นคงและปลอดภัยให้กับตนเองเช่นกัน ด้วยการสร้าง “คอนเน็คชั่น” กับกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ เช่น นักธุรกิจและกลุ่มทุนต่างๆ รวมถึงนักการเมืองในพรรคการเมืองและในพื้นที่ต่างๆ (โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ทหารต้องอาศัยนักการเมืองท้องถิ่นในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐ) รวมทั้งที่มีการจัดการศึกษาอบรมร่วมกันในหลักสูตรทางความมั่นคงและขององค์กรอิสระต่างๆ ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทหารจะได้สร้างความสัมพันธ์ “อันแนบแน่น” กับผู้มีอำนาจในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งทำให้ทหารมีเครือข่ายที่กว้างขวาง และอาจจะโดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที ทหารก็ได้เข้าไปมีอิทธิพลอยู่ในทุกกลุ่มองค์กรดังกล่าวอย่างพอสมควรอีกด้วย ในตำรารัฐศาสตร์ไทยอีกเช่นกันที่ศึกษาเกี่ยวกับการแทรกแซงของทหารกับการเมืองไทย ก็ยอมรับแล้วว่าทหารจำเป็นจะต้องมีบทบาทในทางการเมืองต่อไปอีกนาน ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของทหารที่จะเข้ามามีอำนาจนั้นเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเพราะความต้องการของนักการเมืองที่จะเข้าไป “อิงแอบแนบชิด” กับทหารนั้นด้วย โดยที่ไม่ต้องให้มีทหารใหญ่คนใดมาเชิญชวนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบ ก็ยังต้องคบทหารไว้เสมอ ขออย่าไปเป็น “หวยเถื่อน” ที่ผิดกฎหมายก็แล้วกัน