ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงชะลอตัว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายถือเป็นช่วงเวลาทองสำหรับรัฐบาลในการเร่งปั๊มตัวเลขเศรษฐกิจ นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ขยายโครงการในระยะที่ 2 หรือ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 2 แล้ว ที่น่าสนใจก็คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ 2 มาตรการ ได้แก่
1.มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อหน่วย และจะต้องจดทะเบียนการโอน รวมถึงจดจำนองอสังหา ริมทรัพย์ภายในวันที่ 24 ธ.ค.2563
2.มาตรการสินเชื่อเพื่อ ที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) ดอกเบี้ยพิเศษ 2.5% คงที่ 3 ปี วงเงิน 50,000 ล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส.เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดให้ประชาชนสนใจมายื่นขอสินเชื่อในมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยตามมติครม.กรอบวงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.50% ต่อปี นาน 3 ปีแรกถือว่าถูกสุดในตลาด พบว่าประชาชนให้ความสนใจมายื่นกู้จำนวนมาก โดยจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2562 เหลือเวลาอีก 7 สัปดาห์ในการทำงาน คาดว่าจะสามารถอนุมัติสินเชื่อวันละ 1,000 ล้านบาท หรือจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้จนถึงสิ้นปีประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทจะหมดภายในไตรมาสแรกของปี 2563
นายฉัตรชัยกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ 2.50% ต่อปี ช่วยลดภาระให้ผู้กู้จากเดิมทุก 1 ล้านบาท ต้องเสียค่างวด 5,300 บาท ลดเหลือเพียง 3,300 บาทต่อเดือน หรือปีแรกลดค่างวดได้ถึง 8 หมื่นบาท และการลดค่าธรรมเนียมและจดจำนองทำให้ค่าใช้จ่ายการโอนทุก 1 ล้านบาท เหลือเพียง 200 บาทจากเดิมต้องมีค่าใช้จ่าย 3 หมื่นบาท โดยมาตรการออกมาเน้นประชาชนที่ต้องการมีบ้านใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ต้องการมีบ้านหลังแรก
อย่างไรก็ตาม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าทั้ง 2 มาตรการนี้ รัฐคาดในส่วนของการลดค่าโอนและจดจำนองจะสูญเสียรายได้ 2,600 ล้านบาท ส่วนมาตรการลดดอกเบี้ย ธอส. รัฐบาลจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ 1,200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบ กับการช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริม ทรัพย์ให้เติบโต และส่งผลดีไป ยังภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจคมนาคม และยังหวังว่าหลังจาก ธอส.เป็นผู้นำตลาดในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ตาม
ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ณ เดือน ต.ค.62 มีอยู่ประมาณ 34,731 หน่วย คิดเป็น 57% ของที่อยู่อาศัยสร้าง เสร็จทั้งหมด และคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในปี 63 อีกประมาณ 145,269 หน่วย จึงมีที่อยู่อาศัยรวมกว่า 180,000 หน่วย ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าของได้จำนวนเพียงพอ สำหรับกลุ่มเป้าหมายมาตรการอสังหาฯ จะเน้นไปกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
เราเห็นว่ามาตรการที่ให้ธอส. เป็นผู้นำตลาดในการการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามนั้นเป็นแนวทางที่ดี แต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหนต้องรอดูผลอีกสักระยะ