ทองแถม นาถจำนง ฮอลันดาเป็นประเทศยุโรปประเทศแรกที่ราชอาณาจักรสยามรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถส่งพระราชสาส์นและราชทูตไปเจริญพระราชไมตรี และพระราชวงศ์ของฮอลันดาในปัจจุบันนี้ก็สืบทอดมาโดยไม่ขาดสายจากกษัตริย์ฮอลันดาในสมัยที่สยามส่งราชทูตไปครั้งแรก(รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ) สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์นับว่ามีความพิเศษกว่าประเทศยุโรปอื่น ๆ มาก เรื่องอย่างนี้ ถ้าทางราชการไทยรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศไทยไม่น้อย ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์เป็นฝรั่งชาติแรก ๆ ที่เปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตกับสยาม ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าเรื่องนี้ไว้ในรายการ “เพื่อนนอน” วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ดังนี้ “.....ประเทศไทยกับประเทศเนเธอร์แลนด์ได้มีความสัมพันธ์อันดียิ่งเป็นเวลาถึง 355 ปีมาแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเนเธอร์แลนด์หรือที่เรารู้จักกันในภาษาไทยแต่ก่อนว่า ประเทศวิลันดาหรือประเทศฮอลันดานั้น ได้เริ่มขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือได้เริ่มมีการติดต่อกันระหว่างฮอลันดากับไทย ทั้งนี้โดยที่พวกพ่อค้าชาวฮอลันดาได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย แล้วก็ได้ตั้งศูนย์การค้าของฮอลันดาขึ้น วัตถุประสงค์ของพ่อค้าชาวฮอลันดาในขณะนั้นก็เพื่อจะติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ซึ่งในสมัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ติดต่อยาก เพราะเป็นเมืองปิด และในการที่จะติดต่อค้าขายกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีนนั้น ทางฝ่ายฮอลันดาจะต้องมีที่ขนถ่ายสินค้าในระหว่างทาง คือสินค้าจากยุโรปมา ก็จะต้องมาขนลงเรือสำเภาของจีน เพื่อจะไปยังประเทศจีนหรือประเทศญี่ปุ่น ตลาดจนสินค้าของจีนและญี่ปุ่นที่จะไปยังยุโรปก็ต้องมาขนถ่ายลงเรือกัน ณ ที่ใดที่หนึ่ง พ่อค้าชาวฮอลันดาได้มาเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะ ก็เริ่มตั้งศูนย์การค้าเพื่อขนถ่ายสินค้าขึ้นที่ปัตตานีก่อน และโดยที่ปัตตานีขึ้นกับไทยก็ต้องมีการติดต่อเข้ามายังพระมหานครศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลพระนเรศวรมหาราช และในที่สุดก็ได้ตั้งศูนย์การค้าขึ้นที่กรุงศรีอยุธยานั้นเองในรัชกาลนั้น ในสมัยนั้น คนไทยก็อาจจะยังสงสัยในกิจการต่าง ๆ ของชาวฮอลันดา ตลอดจนสงสัยว่าคนฮอลันดานั้นจะเป็นบ้านใหญ่เมืองโตสมกับที่จะทำทางพระราชไมตรีด้วยหรือไม่ เพราะข่าวเล่าลือกันในเอเชียสมัยนั้นก็ถือว่าชาวฮอลันดานั้น ความจริงเป็นโจรสลัดเดินทางมาเที่ยวปล้นสะดมทรัพย์สินโดยใช้เรือ ประเทศฮอลันดาจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครเคยเห็น จะเป็นประเทศที่มีพระราชาธิบดีปกครองหรืออย่างไร ก็ไม่มีใครทราบ และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเรื่องที่ชาวออลันดาที่จะเข้ามาตั้งค้าขายในประเทศไทย และต้องการที่จะให้รัฐบาลรับรองฐานะของตนจะต้องขวนขวายหาทางผูกสัมพันธไมตรีให้ดียิ่งขึ้น ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ คือประมาณพุทธศักราช 2150 ก็มีชาวฮอลันดาคนหนึ่งซึ่งเป็นพ่อค้าที่ใหญ่โตอยู่ เดินทางกลับไปยังกรุงเฮก ซึ่งเป็นเมืองหลวงของฮอลันดา ในครั้งนั้นสมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้ส่งเอกอัครราชทูตพร้อมด้วยทูตานุทูต เป็นจำนวนถึง 20 คน ไปในเรือลำเดียวกันนั้นด้วย การเดินทางของทูตครั้งนั้นก็ไปในแบบอย่างเต็มยศทีเดียว คือมีพระราชสาส์น ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ที่มีค่า ถูกต้องตามแบบแผนประเพณีของการเจริญพระราชไมตรีสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกอย่าง และในระหว่างการเดินพระราชสาส์นของสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งในสมัยโบราณเราถือว่าสำคัญกว่าคณะทูตหรือสิ่งใดทั้งนั้น คือคณะทูตเมื่อเชิญพระราชสาส์นไปแล้วก็จะต้องถือว่าพระราชสาส์นเหมือนกับเป็นองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นทั้งพระราชสาส์นและคณะทูตก็ได้รับเกียรติยศยกย่องจากทางฝ่ายฮอลันดาไปตลอดทาง ได้เดินทางจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปลงเรือใหญ่ เดินทางต่อไปในยุโรป ในพุทธศักราช 2150 ไปถ่ายเรือที่เมืองบันตัม ในเกาะชวา ซึ่งในสมัยนั้นได้มีศูนย์การค้าของพวกฮอลันดาอยู่ที่นั่นใหญ่โตมาก และได้เดินทางต่อไปจนถึงกรุงเฮก การเดินทางครั้งนั้นกินเวลาประมาณ 9 เดือนจึงได้ถึง ปรากฏตามประวัติซึ่งได้จดไว้ทางฝ่ายฮอลันดาว่า คณะทูตานุทูตของประเทศไทยซึ่งได้ทรงให้มาเจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้าชายมอริทซ์ ผู้ครองฮอลันดาในขณะนั้น ได้เดินทางไปถึงกรุงเฮก เมื่อวันที่ 10 กันยายน พุทธศักราช 2151 เจ้าชายมอริทซ์ซึ่งเป็นผู้ครองฮอลันดาในขณะนั้น ความจริงยังไม่ได้เรียกกันว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่เรียกเป็นภาษาฮอลันดาว่า “สตัทโฮลเดอร์” ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยก็เห็นจะต้องแปลว่าผู้รักษาแผ่นดิน หรือรัฐาภิบาล แต่ก็มีศักดิ์เป็นเจ้า เจ้าชายมอริทซ์นั้นเป็นปฐมวงศ์ของพระนางเจ้าจูเลียนา พระมหากษัตริย์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน ผู้ที่ได้ตั้งวงศ์กษัตริย์นี้หรือวงศ์กษัตริย์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในยุโรปก็คือเจ้าชายวิลเลียม ซึ่งเป็นปฐมวงศ์ ได้ตั้งพระราชวงศ์นี้ขึ้น พระราชวงศ์นี้มีพระนามว่า ออเร้นซ์แห่งเซ้าท์ และได้ตั้งขึ้นในสมัยเจ้าชายวิลเลียม ผู้มีฉายาว่า วิลเลียมผู้เงียบ หรือภาษาอังกฤษว่า William The Silent เจ้าชายวิลเลียมเป็นพระราชบิดาของเจ้าชายมอริทซ์ และพระนางจูเลียนาก็ทรงสืบราชตระกูลโดยตรงลงมาจากเจ้าชายมอริทซ์โดยมิได้ขาดสาย และเจ้าชายมอริทซ์นี้เป็นกษัตริย์องค์แรกของออลันดา หรือจะพูดไปแล้วก็เป็นกษัตริย์องค์แรกของยุโรปที่ได้เคยรับราชทูตจากประเทศไทย คณะทูตานุทูตที่ได้ส่งไปประเทศออลันดาเมื่อปี พุทธศักราช 2151 นั้น เป็นคณะทูตครั้งแรกที่ได้ออกจากประเทศไทยไปเจริญทางสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป แล้วตั้งแต่ครั้งนั้นมา ก็มาอีกสมัยหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งท่านโกษาปานได้ออกไปเจริญทางสัมพันธไมตรีในพระราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายฮอลันดาได้จดรายละเอียดไว้เกี่ยวกับคณะทูตที่ไปยังกรุงเฮก เมืองหลวงของฮอลันดาในสมัยนั้น น่าเสียดายที่ในจดหมายเหตุนั้นไม่ได้บอกชื่อท่านราชทูตหรือบุคคลใด ๆ ในคณะทูตไว้เลย รู้แต่จำนวนว่าที่เข้าเฝ้านั้นมีหัวหน้าสองท่าน ก็เห็นจะเป็นราชทูตและอุปทูต และคณะด้วยคือผู้ที่เป็นพนักงานรักษาเครื่องราชบรรณาการ เจ้าพนักงานพระราชสาส์นและอื่น ๆ ได้เข้าเฝ้าเจ้าชายมอร์ริส ในวันที่ 11 กันยายน 2551 คือในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ได้มาถึงแล้วนั่นเอง ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ก็มีพิธีการ คือเจ้าชายมอริทซ์ได้เสด็จออกรับทูตไทยตามประเพณีของฝ่ายยุโรป แต่ทางฝ่ายทูตไทยก็ได้เข้าเฝ้าตามประเพณีไทย คือเมื่อได้เข้าไปถึงท้องพระโรง แลเห็นพระองค์แล้วก็ได้เดินเข้าไปประมาณ 2-3 ก้าวเมื่อถึงที่สมควรแล้วคณะทูตไทยทุกคนก็ได้คุกเข่าถวายบังคมสามคาบตามแบบอย่างของไทย เมื่อถวายบังคมแล้วก็ได้ลงหมอบเฝ้า เจ้าชายมอริทซ์ก็ได้ทรงพระดำเนินเข้าไปจนถึงคณะทูต แล้วก็ได้ยื่นพระหัตถ์ให้สัมผัส เมื่อทูตไทยได้สัมผัสพระหัตถ์แล้ว จึงได้ลุกยืนเฝ้าตามธรรมเนียมแบบอย่างของยุโรป คณะทูตนี้ได้มีชาวฮอลันดาหนุ่มคนหนึ่งไปเป็นล่าม ปรากฏว่าชาวฮอลันดาคนนี้ได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาเจ็ดปี และมีความรู้ในภาษาไทยพอใช้การได้ จึงได้ออกไปในคณะทูตเพื่อเป็นล่ามด้วย เมื่อได้เข้าเฝ้าถวายบังคมแล้วทูตไทยก็ได้ถวายพระราชสาส์น ซึ่งตามจดหมายเหตุของฮอลันดาบอกว่า ได้บรรจุไปในกล่องที่ทำด้วยงาช้างอย่างประณีต นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องราชบรรณาการอีกมากมายซึ่งปรากฏในบัญชีถูกต้องทุกอย่าง ในเครื่องราชบรรณาการนั้นมีหีบเล็ก ๆ บรรจุเพชรนิลจินดาจนเต็ม และในหีบนั้นก็มีเพชรอยู่เม็ดหนึ่งซึ่งเป็นขนาดใหญ่มาก แล้วก็มีราคาสูงเป็นอย่างยิ่ง ท่านราชทูตได้กราบทูลเจ้าชายมอริทซ์ว่า สำหรับเจ้าชายมอริทซ์นั้นทางฝ่ายไทยถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฮอลันดา และพระมหากษัตริย์ของฝ่ายไทยก็มีพระราชประสงค์ที่จะเจริญทางพระราชไมตรีกับพระมหากษัตริย์ของฮอลันดา หลังจากเจ้าชายมอริทซ์ได้ขอบใจคณะทูตแล้ว คณะทูตก็ได้กราบบังคมทูลต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทยในสมัยนั้นทรงพระบรมเดชานุภาพมาก มีเมืองประเทศราชที่มีกษัตริย์ปกครองอยู่ถึง 4 หรือ 5 ประเทศ ทรงมีกองทัพที่มีไพร่พลมาก ทั้งพลช้าง พลม้า และพลรบ นอกจากนั้นก็จะได้เจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนอยู่เสมอ ทั้งนี้ทางฝ่ายฮอลันดาก็เข้าใจว่าที่ทูตไทยไปเฝ้าครั้งนั้น ทูตไทยก็ทราบดีว่าทางฮอลันดาต้องประสงค์อะไรจึงได้เอ่ยถึงพระเจ้ากรุงจีนขึ้น เพราะทูตไทยก็รู้ดีว่าที่ฮอลันดาต้องประสงค์แท้จริงนั้น ก็คือจะมาตั้งศูนย์การค้าขึ้นในเมืองไทย เพื่อจะได้ทำการขนถ่ายสินค้าระหว่างยุโรปกับจีน หลังจากที่ได้เฝ้าเจ้าชายมอริทซ์แล้ว ทูตไทยก็ได้รับการต้อนรับจากผู้มีเกียรติอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี และทีทูตไทยในสมัยพระเอกาทศรถสนใจที่สุดก็คือการต่อเรือ ซึ่งฮอลันดามีชื่อเสียงว่าสามารถต่อเรือสำเภาเดินสมุทรได้ดีที่สุดในโลกสมัยนั้น ทูตไทยเราก็รู้สึกว่าเป็นคนทันสมัย ได้สนใจในการต่อเรือยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อกลับมาถึงเมืองไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว สมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้สั่งไปยังเมืองฮอลันดาให้ส่งช่างและครูให้มาสอนคนไทยให้ต่อเรือได้อย่างกับฮอลันดา และทางฝ่ายฮอลันดาก็ได้ส่งช่างมาสอนการต่อเรือให้คนไทยจริง ๆ และตามจดหมายเหตุบอกว่าช่างต่อเรือที่มากรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น มาถึงแล้วรู้สึกว่าเหมือนกับอยู่ที่บ้าน เพราะเหตุว่าไปตามแม่น้ำลำคลองในกรุงศรีอยุธยาก็ได้ยินแต่เสียงคนตอกไม้ ไสกบ ต่อเรือกันทั่วไป ตลอดจนกระทั่งในแม่น้ำหน้ากรุงศรีอยุธยาหรือท้ายกรุงศรีอยุธยาลงมา แน่นหนาไปด้วยเรือสำเภาที่มาทำการค้าขายต่าง ๆ ทำให้รู้สึกเหมือนกับอยู่ที่เมืองฮอลแลนด์นั้นเอง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างฮอลันดากับไทยก็ได้ระงับไปชั่วคราว มาเริ่มขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่สี่ของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการทำสัญญาทางไมตรีและทางการค้าขึ้นในระยะนั้น ซึ่งถึงบัดนี้สัญญานั้นก็ได้ใช้การมาเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว ประเทศไทยและประเทศฮอลันดาก็มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันมาตลอด เป็นเวลาช้านานถึง 355 ปี ถ้าจะพูดไปแล้ว ก้อย่างที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า พระราชวงศ์ของพระมหากษัตริย์ฮอลันดานั้นเป็นพระราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศฮอลันดาก็มีอายุไล่เลี่ยกับอายุของพระราชวงศ์นั้น คือว่าคณะราชทูตไทยได้ไปถวายพระราชสาส์นต่อพระมหากษัตริย์องค์ที่สองแห่งพระราชวงศ์ของฮอลันดาในปัจจุบันนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่” อ่านต่อฉบับหน้า...