กว่า 1 ปีครึ่งกับการเคลื่อนไหวให้ยุติการต่อทะเบียนใหม่ และจำกัดการนำเข้า สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร 3 ชนิด ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยสารพิษทั้ง 3 ชนิดประกอบด้วย 1.พาราควอต (Paraquat) : รุนแรงที่สุดในทั้งหมด 3 สาร ผู้ที่ได้รับพิษมีอัตราเสียชีวิตถึง ร้อยละ 40 พาราควอตสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้โดยการกิน สัมผัส และหายใจ มีพิษเฉียบพลัน ผิวหนังเป็นแผลพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม ปอดเป็นอวัยวะหลักที่ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยถุงลมปอดจะถูกทำลาย 2.คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) : ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างมาก สูญเสียความจำในการทำงาน ขาดสมาธิ คล้ายโรคสมาธิสั้น ออทิสติก สามารถตกค้างในร่างกายของแม่ และมีโอกาสกระจายตัวไปสู่ทารกในครรภ์ มีพิษต่อสมอง เด็กพัฒนาการช้า ความจำสั้น ควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองได้แย่ลง เด็กมีไอคิวต่ำ สมาธิสั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้และมะเร็งทวารหนัก 3.ไกลโฟเซต (Glyphosate): ตกค้างในร่างกายและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อของทั้งแม่และทารก เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยให้กรมวิชาการเกษตรรวบรวมสารชีวภัณฑ์มาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ ส่วนพืชเศรษฐกิจที่ยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชได้ให้หาสารอื่นมาทดแทน ทั้งนี้ได้เร่งตั้งคณะทำงานพิจารณาปัญหาของเกษตรกรและหาแนวทางแก้ไขให้ทั้งกรณีที่สารเคมีอื่นอาจมีราคาแพงกว่าหรือค่าแรงงานจัดการแปลง โดยต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบมาตรการชดเชยส่วนต่างของต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกัน ได้เร่งขับเคลื่อนมาตรการลดต้นทุนการผลิต ขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ...ให้ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อเดินหน้าทำเกษตรปลอดภัยเต็มรูปแบบในพื้นที่เกษตร 149 ล้านไร่ทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ยังตั้งเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเคมีไปเป็นเกษตรอินทรีย์ 1 ล้านไร่ โดยภายในปี 2562-2563 จะทำให้ได้ 5 ล้านไร่ และจะขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ร้อยละ 25 ในปีต่อไป อย่างไรก็ตาม ภายหลังมติของคณะกรรมการออกมา ไม่ได้มีเพียงเสียงสนับสนุนและแซ่ซร้องยินดีเท่านั้น หากแต่ยังมีปฏิกิริยาต่อต้านจากกลุ่มเกษตรกร โดยเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองในฐานะผู้แทนเกษตรกร จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ยกเลิกใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว และจะยื่นถอดมติสาธารณสุข 2560 ที่เป็นต้นเหตุของการแบน 3 สารดังกล่าวเพราะมีการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ อีกทั้งจะเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย ต่อกรณีดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้ว่าเป็นสิทธิของกลุ่มเกษตรกรในการยื่นให้ศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว ถ้าศาลรับคำร้องและมีคำสั่งอย่างไรก็ต้องดำเนินการตามนั้น ส่วนการเดินทางมาร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยเหลือนั้น นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจใดในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ได้ ดูเหมือนว่าเส้นทางการต่อสู้เรื่องสารเคมีอันตรายในภาคเกษตรนั้น ยังไม่จบง่ายๆ และจะมีภาคต่อไป แต่ถึงกระนั้น เรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งในการคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าเกษตรไทย ว่ามีความปลอดภัย โดยข่าวนี้ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยเฉพาะสำนักข่าวต่างประเทศที่ให้ความสนใจนำเสนอข่าว จะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยด้วย