แสงไทย เค้าภูไทย
ในยุคล่าอาณานิคม ศูนย์อำนาจโลกอยู่ที่ยุโรป ยุคหลังสงครามโลกศูนย์อำนาจและเศรษฐกิจย้ายมาอยู่อเมริกา วันนี้ ศูนย์อำนาจทั้งสองย้ายมาอยู่เอเชีย มีสี่มหาอำนาจเป็นเสาหลัก
การประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ประจำปี 2019 ที่วอชิงตันดีซี สุดสัปดาห์ที่แล้ว มีบรรดาผู้ว่าการธนาคารกลางของทุกประเทศสมาชิก รวมทั้งรัฐมนตรีคลังและกรรมการของ IMFและธนาคารโลกมาชุมนุมกันคับคั่ง
มีบทสรุุปวิเคราะห์ที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่ง คือการยอมรับกันทั่วมวลสมาชิกว่า ศูนย์กลางการค้าโลกได้ย้ายจากสหรัฐอเมริกามาสู่เอเชียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ใช่แต่ศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น ศูนย์อำนาจทางการทหารและทางการเมืองโลกก็กำลังตามมาอยู่ที่เอเชียด้วย
โดยมีกลุ่มและประเทศเป็น 4 เสาหลักค้ำยันศูนย์อำนาจเหล่านี้
New McKinsey Global Institute ได้รายงานผลวิจัยว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังเพิ่มสัดส่วนในการมีส่วนร่วมในด้านการค้าโลก โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ จำนวนประชากร วิชาการความรู้ การขนส่ง วัฒนธรรมและทรัพยากร มีการเชื่อมต่อข้ามพรมแดน 8 ด้าน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเอเชียมีส่วนร่วมในการค้าโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1ใน 3 จาก 1ใน 4 ที่เด่นชัดคือ การมีส่วนแบ่งทางการบินพาณิชย์โลกที่ขึ้นมาจาก 33% เป็น 40%
การไหลสะพัดของเงินทุน เพิ่มจาก 13% เป็น 23% การเคลื่อนย้ายเงินทุนเหล่านั้น ผ่านจากมหานครสู่มหานครซึ่งเอเชียมีถึง 20 มหานครจาก 30 มหานครของโลก
ที่น่าสังเกตุคือ เมืองใหญ่ที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนต่างประเทศ (FDI) เป็น 0 อย่างย่างกุ้งนั้น เมื่อปี 2017 มีเข้ามาถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์
สิ่งที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเอเชียที่สำคัญที่สุดคือการค้าภายในภูมิภาคที่หนาแน่นคิดเป็น 60% ของทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของเอเชียแทบจะไม่ต้องพึ่งพาโลกตะวันตกหรือย่านอื่นๆมากเหมือนก่อน
สี่เสาหลักเอเชีย อันดับหนึ่งหนีไม่พ้นจีน ที่ส่งเม็ดเงินไปลงทุนต่างประเทศในย่านเพื่อนเอเชียถึง 35% ของทุนไหล FDIทั้งหมด
จีนเองนั้น นวัตกรรมใหม่พรั่งพรูออกมารังสรรค์เศรษฐกิจจนก้าวล้ำนำหน้าเพื่อนๆ โดยปี 2017 จีนจดสิทธิบัตรนวัตกรรมใหม่ถึง 44% ของจำนวนสิทธิบัตรทั้งโลกรวมกัน
เสาหลักที่สอง ได้แก่กลุ่มเอเชียก้าวหน้า อันมีที่มาจากการสร้างเทคโนโลยีก้าวล้ำและเงินทุน โดยมีเงินทุน FDI ออกมาลงทุนนอกบ้าน คิดเป็น 54% ของเงินลงทุนในภูมิภาคทั้งหมด
ขาใหญ่ในกลุ่มคือญี่ปุ่น ลงทุนในเมียนมาร์ 35% กับ 17% ในฟิลิปปินส์ รองลงมาเกาหลีใต้ลงทุนในเวียดนาม 33%
เสาที่ 3 คือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่สำคัญคือกลุ่มชาติอาเซียน ซึ่งมีผลผลิตและการค้าคิดเป็น 73% ของทั้งทวีป
เสาที่ 4 คืออินเดีย “แนวหน้าแห่งเอเชีย” ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกรองจากจีน โดยมีสัดส่วน 31% ของเงินทุนหมุนเวียนในภูมิภาค
สิ่งที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชีย คือ แรงงาน ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคด้วย
และเพราะศูนย์กลางการค้าโลกย้ายมาอยู่เอเชีย ทำให้สหรัฐ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ พยายามถ่วงดุลและเรียกคืนความยิ่งใหญ่ในอดีตของสหรัฐด้วยการทำสงครามการค้า
ได้ผลที่ทำให้เศรษฐกิจจีนหยุดโตเร็ว แต่กลับเป็นบูเมอแรงเหวี่ยงกลับไปที่สหรัฐฯ และยังผลให้ชาติเอเชียที่ผูกพันกับจีนมากกว่าสหรัฐฯ พลอยรับผลไปด้วย
ไอเอ็มเอฟพยากรณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้เอาไว้ที่ 3% เท่านั้น จากปีที่แล้ว 3.6% ส่วนปีหน้าจะกระเตื้องเล็กน้อยเป็น 3.4%
การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้หลายชาติดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากภาวะซบเซา โดยการกู้หนี้เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของตน
ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในชาติหนี้ท่วมเหล่านั้น ยังผลให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
มีการสรุปผลการประชุมว่า ควรจะเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าโลกยิ่งขึ้น เพื่อลดความกระทบกระทั่งจนนำไปสู่สงครามการค้าอย่างที่เกิดขึ้น
โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization -WTO)กันเสียทีหลังจากเป็นเสือกระดาษมานานแสนนาน
ที่ WTO ไม่ทำอะไรเลยกับความขัดแย้งและสงครามการค้าก็เพราะ WTO ไม่สามารถทำอะไรกับสหรัฐฯได้
สหรัฐก็เลยแสดงอำนาจ ทำสงครามการค้ากับจีนที่กระทบไปถึงเศรษฐกิจโลก
ในยามที่ศูนย์การค้าโลกย้ายมาอยู่เอเชีย จึงมีข้อเสนอว่า ควรจะจัดการสหรัฐ หรือที่จริงก็คนคนเดียวคือทรัมป์
การเสนอถอดถอนเขาจากตำแหน่ง(impeachment) จะประสบผลสำเร็จแค่ไหน
ถ้าถอดถอนเขาไม่ได้ เลือกตั้งกลางเทอม ปีหน้าจะชี้ว่า เขาจะอยู่หรือไป
คาดเดากันยาก เพราะคนอเมริกันคิดกันเป็นระบบก็มาก คิดแผลงๆก็มี
ที่ได้เป็นประธานาธิบดีมา ก็เพราะคนส่วนใหญ่เลือกลูกบ้าของเขา โดยไม่คาดคิดว่า มันจะส่งผลเกินคาดคิดมาจนถึงวันนี้