ถือว่าจบลงไปอย่างสวยงาม เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 251 เสียง ขณะที่ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านงดออกเสียง 234 เสียงและไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมาธิการแปรญัติงบประมาณใน 30 วัน และเป็นสัญญาณที่รัฐบาลได้ไปต่อ ขับเคลื่อนงบประมาณเดินหน้าประเทศไทยได้ เนื่องจากหากร่างฯไม่ผ่านรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ดังนั้น การตัดสินใจงดออกเสียงของฝ่ายค้าน เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมาย และถือเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 80 ปี ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านงดออกเสียง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นบรรยากาศการที่ดีในการทำงานในสภา และถือเป็นมิติใหม่ทางการเมือง เมื่อฝ่ายค้านยอมถอยให้กับฝ่ายรัฐบาล แม้จะมีประเด็นที่น่าสังเกต กรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้าน 1 คน ไปลงมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบฯ คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ต.ค. น.ส.กวินนาถ ก็เป็น 1 ใน 4 ส.ส.อนาคตใหม่ที่ลงมติเห็นชอบต่อพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นการสวนจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะนายปิยบุตร เลขาธิการพรรคพรรคอนาคตใหม่ กระนั้น ฝ่ายค้านจะสง่างามกว่านี้ หากไม่มีปรากฎสัญญาณของการ “ต่อรอง”ออกมา จากกรณีที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่มีมติงดออกเสียง ในเรื่องของวงเงิน 3.2 ล้านล้าน นั้นเป็นกรอบที่พรรครับได้ ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่เรามีปัญหาคือเรื่องของรายละเอียดในการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้น มติของพรรคจึงเป็นการงดออกเสียงในชั้นรับหลักการ เพื่อจะไปดูรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งเราจะทำอย่างเต็มที่ ภายใต้ 4 หลักคิดได้เสนอไปแล้วในการอภิปราย คือ 1.ลดงบดำเนินการแล้วเพิ่มงบการลงทุน 2. เปลี่ยนจากงบประมาณและการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ไปเป็นงบประมาณและการตัดสินใจที่ท้องถิ่น 3. ปรับการลงทุนเมกะโปรเจคเป็นการลงทุนเพื่อคนทุกคน และ 4. ลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์โดย สร้างสวัสดิการสำหรับทุกคน โดยในชั้น กรรมาธิการ จะนำทีมโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะทำงานเรื่องนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หากในรายละเอียดไม่มีการปรับปรุงตามที่เราพยายามผลักดันให้เหมาะสมการพัฒนาประเทศ ก็พร้อมที่จะโหวตคว่ำในวาระสุดท้าย ที่น่าสนใจก็คือ นายธนาธร อยู่ระหว่างถูกพักปฏิบัติหน้าที่ จากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่คณะกรรการการเลือกตั้ง(กกต.)ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของนายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจส.ส.พรรคอนาคตใหม่สิ้นสุดลงหรือไม่กรณีการถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อบริษัทวี-ลัคมีเดียจำกัดระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ2560 และนายธนาธรเพิ่งไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 นี้ ดังนั้น การงดออกเสียงร่างพ.ร.บ.สำคัญของรัฐบาล และการมีชื่อของนายธนาธรปรากฎอยู่ในคณะกรรมาธิการแปรญัตติงบประมาณฯ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาความเชื่อมโยงของ 2 ปรากฏการณ์นี้ และที่น่าสนใจก็คือ แม้จะมีชื่อแล้ว สุดท้ายแล้วนายธนาธรจะได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯหรือไม่