ทวี สุรฤทธิกุล
โลกเรากำลังถูกทำให้เป็น “ดิจิทัล” รวมถึงเรื่องการเมือง
“ดิจิทัล” (Digital) มาจากคำว่า “ตัวเลข” โดยนักวิทยาศาสตร์ทางด้านไฟฟ้าได้นำตัวเลขเพียง 2 ตัว คือเลข 1 กับเลข 0 มากำหนดรูปแบบของการคิดคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ เกิดเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกว่า Digital Technology ที่ทำให้โลกและชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ที่เรารู้จักกันดีที่สุดก็คือในเรื่องของการสื่อสาร ตั้งแต่ที่เรามีสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต จนแทบไม่น่าเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเลขเพียงสองตัวเท่านั้น
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของการเมืองคือการสื่อสาร โดยเป็นการสื่อสารระหว่างผู้คนที่มีฐานะและบทบาทต่างๆ กันในระบบการเมือง เช่น เป็นผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง หรือนักการเมืองกับประชาชน โดยมีความมุ่งหวังต่างๆ กัน เป็นต้นว่า ผู้ปกครองหรือนักการเมืองก็ต้องการที่จะเข้าไปมีอำนาจ เพื่อจัดการดูแลบริหารประเทศ ในขณะที่ประชาชนหรือผู้ใต้ปกครองก็ต้องการความสุขและความพอใจ โดยคาดหวังว่าผู้ปกครองหรือนักการเมืองจะสามารถสนองความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การสื่อสารทางการเมืองที่สำคัญก็คือ “การสื่อสารทางนโยบาย” โดยที่ประชาชนเป็นผู้แสดงความต้องการ แล้วนักการเมืองก็เอาไปทำเป็นนโยบาย หรือนักการเมืองอาจจะทำนโยบายขึ้นก่อน เช่น นโยบายในการหาเสียง แล้วก็ไปโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นชอบ จนกระทั่งตัดสินใจมาเลือกนักการเมืองให้เข้าไปทำนโยบายนั้นให้สำเร็จ นั่นก็คือการเข้าไปเป็นรัฐบาล รวมถึงการทำหน้าที่ต่างๆ ในรัฐสภา เช่น การทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน เป็นต้น
“โลกดิจิทัล” จึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ในระบบการสื่อสารที่รวดเร็วและกว้างขวาง ดังที่เราได้เห็นเรื่องของการใช้โซเชียลมีเดีย บิ๊กดาต้า และไซเบอร์วอร์ เหล่านี้เป็นต้น อันทำให้การเมืองสมัยใหม่ “พลิกโฉม” ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Disruption” อย่างเช่น การหาเสียงแต่ก่อนต้องไปเคาะประตูบ้านทีละบ้าน หรือเอารถไปวิ่งโฆษณาไปตามชุมชนทุกตรอกซอกซอย หรือจัดทีมปราศัยให้ได้หลายๆ จุด แต่เมื่อมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ก็ทำให้วิธีการดังกล่าว “ล้าสมัย” ไปในทันที (แต่ก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กันอยู่บ้าง) โดยนักการเมืองได้หันมาใช้การสื่อสารที่รวดเร็วและเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางของโลกดิจิทัลนี้ ทำให้การเมืองกลายเป็น “โลกใหม่” ที่แต่ละคนแม้ไม่ได้มาอยู่รวมกันในที่เดียวกัน ก็สามารถสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างเข้มข้นและหลากหลาย ซึ่งนั่นก็คือการสร้างกิจกรรมทางการเมืองแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมในการหาเสียงเลือกตั้ง
ดังที่ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงการไปประชุมทางวิชาการของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association : APSA) ที่ผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมมาระหว่างปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่าได้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย และได้ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี “บิ๊กดาต้า” ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะหมายถึงเทคโนโลยีที่มีการเก็บรวมรวมข้อมูลจำนวนมากๆ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดระบบเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ต่างๆ แต่ในทางการเมืองกลับมีวิธีการในทางตรงกันข้าม คือในการเก็บรวมรวมข้อมูลจะเน้นการแยกข้อมูลอย่างละเอียดเป็นรายบุคคล แล้ววิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นเป็นรายบุคคลเช่นกัน เพื่อหวังผลที่จะรณรงค์หาเสียงให้เข้าถึงตัวผู้เลือกตั้งแต่ละคนอย่าง “ชัดเจนและตรงไปตรงมา”
ผู้เขียนขอเรียกระบบการเก็บและใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองแบบนี้ว่า “Pixels Politics” ที่อาจจะเรียกในภาษาไทยได้ว่า “การเมืองแบบเม็ดเล็กๆ” ซึ่งมาจากคำที่ใช้ในการถ่ายภาพดิจิทัล โดยภาพที่ถ่ายในระบบดิจิตัลจะถูกบันทึกไว้เป็นเม็ดสีเล็กๆ ที่เรียกว่า “พิกเซล” (Pixels) ซึ่งภาพจะมีรูปทรงอะไร สีสันและรายละเอียดอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการเรียงตัวของเม็ดสีเหล่านั้นนั่นเอง ซึ่งมาถึงวันนี้ภาพที่ถ่ายด้วยกล้องมือถือและกล้องดิจิทัลทั่วๆ ไปก็สามารถเก็บรายละเอียดไว้ในภาพได้หลายๆ ล้านพิกเซล เช่น 16 MP 20 MP ซึ่งก็คือถ่ายได้ละเอียดถึง 16 ล้านเม็ดสี และ 20 ล้านเม็ดสี นั่นเอง โดยที่ในการตกแต่งหรือตัดต่อภาพ ถ้าเป็นนักสร้างภาพดิจิทัลมืออาชีพจะสามารถนำเม็ดสีแต่ละเม็ดมาปรับแต่งได้อย่างอย่างละเอียด จนอาจจะพลิกแพลงทำให้เกิดภาพใหม่ๆ ตามที่นักสร้างภาพนั้นต้องการได้ เช่นเดียวกับในทางการเมือง ที่ถ้าหากนักการเมืองคนใดมีทีมงานที่สามารถ “บันทึกภาพ” คือเก็บข้อมูลของผู้เลื้อกตั้งได้อย่าละเอียดมากๆ เท่าใด ก็ยิ่งจะสามารถ “แปลงภาพ” หรือสื่อสารกับผู้เลือกตั้งคนนั้นๆ ลงไปได้อย่างละเอียด ถึง “ความชอบพอรายบุคคล” นั้นเลยทีเดียว
ปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงถึงความสามารถของ Pixels Politics นี้ก็คือ กรณีที่มีการกล่าวหาว่าการหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เมื่อปี 2016 มีการว่าจ้างบริษัทการตลาดแห่งหนึ่งให้ไปล้วงข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้เฟสบุ๊ค (ความจริงปรากฏว่าเป็นการเข้าไปขอซื้อข้อมูลบางส่วนมา และด้วยความสามารถของบริษัทการตลาดดังกล่าว ทำให้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้นมา “วิจัย” และเอาไปใช้ในการ “เข้าถึง” ผู้เลือกตั้งได้อย่าง “ชัดเจนและตรงไปตรงมา” ดังเรื่องราวที่บริษัทแห่งนั้นก็ยอมรับสารภาพว่าได้กระทำจริง แต่เจ้าของบริษัทเฟสบุ๊คยังปฏิเสธอยู่) ทั้งนี้ด้วยกระบวนการที่ลึกซึ้งแนบเนียน จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้นิยมกระทำการแบบนี้ในการเลือกตั้งต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจจะเปลี่ยนจากการไปล้วงหรือแอบซื้อข้อมูลมา ที่น่าจะผิดกฎหมาย มาเป็นการทำการค้นคว้าหาและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้การเลือกตั้งมีความได้เปรียบให้มากที่สุด
บทความนี้อยากจะให้ผู้คนทั้งหลายได้ทราบว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ของท่านๆ แต่ละคนนั้นมี “ค่ามหาศาล” ก็ขอให้ระมัดระวังในการจัดเก็บและเผยแพร่ อย่างน้อยก็ระวังไม่ให้นักการเมืองหรือคนชั่วๆ นำไปใช้ประโยชน์อย่างที่มีความละอาย
เพราะเราไม่ใช่ Pixel แต่เป็น People ที่มีพลังมหาศาล