ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า พ.ศ.2574 ประเทศไทยจะมีตัวเลขผู้สูงอายุแตะที่ 28 เปอร์เซ็นต์ หรือเรียกว่าสังคมสูงวัยระดับสุด Super Aged Society ซึ่งหลายหน่วยงานต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ ยังต้องคำนึงถึงบริบทของวัฒนธรรมและประเพณีของไทยซึ่งแตกต่างจากสังคมตะวันตกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้เสนอหลักยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุ ในการบรรยายปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Thailand Graceful Ageing Strategy" 5 ยุทธศาสตร์ ตัดตอนมานำเสนอดังนี้
1.สัมมาทิฐิประเทศไทย หมายความว่า ถ้าเราอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็ต้องทำทุกอย่างด้วยความชอบทำ ขอยกตัวอย่างพระปฐมบรมราชโองการของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ที่พระองค์ท่านตรัสว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ซึ่งหมายถึง แผ่นดินของเราจะต้องมีความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนทุกเพศทุกวัยในสังคมที่จะต้องไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ที่สำคัญเรื่องของความเป็นธรรมจะทำให้คนรักกัน อีกทั้งรักส่วนรวม เมื่อนั้นสังคมก็จะไม่ยุ่งเหยิงมาก
ยุทธศาสตร์ที่ 2 “สัมมาสังกัปปะ”(การดำริชอบ) หมายความว่า หากเราต้องการเห็นโครงการสังคมสูงวัยเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างนั้น เช่น องค์พระพุทธรูปจะสวยงาม ก็ต้องสร้างฐานให้กว้างและแข็งแรง ดังนั้นเราต้องสร้างรากฐานของเราให้แข็งแรง เพื่อให้คนมีภูมิคุ้มกัน เราจะต้องใช้ความเป็นชุมชนและหมู่บ้านเข้ามาช่วย เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ยกตัวอย่าง ชุมบ้านหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ที่เขาสามารถดูแลผู้สูงอายุในชุมชนได้ทั้งหมด เพราะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งใช้เรื่องของ "ธนาคารความดี" เพื่อกู้เงินและสร้างจิตอาสาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต่างจากสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 80 ปี ต้องเสียเงินเดือนละหลายแสนเพื่อจ้างคนไปดูแล แต่ "ธนาคารความดี" นั้นจะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีจิตอาสาคนหนุ่มสาวไปดูแลผู้สูงอายุ และเมื่อหนุ่มสาวแก่เขาก็จะมีคนไปดูแลเช่นเดียวกัน รวมถึงการที่สถาบันการเงินให้งบ 100 ล้านบาทไปยัง 8 พันตำบลทั่วประเทศ ในการสร้างหรืออบรมเรื่องอาชีพให้กับประชาชน เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเลี้ยงชีพ โดยให้คนชุมชนบริหารจัดการกันเอง เพราะคนกลุ่มนี้คือฐานของประเทศ และทำให้บ้านเมืองแข็งแรงได้ โดยอาศัยความเป็นชุมชน และที่สำคัญนั้น เราจะทำอย่างไรเพื่อให้สังคมเมืองแข็งแรงเหมือนสังคมชนบท
ยุทธศาสตร์ที่ 3 “หาความรู้ด้านสังคมสุขภาพเผยแพร่ให้คน" เราจำต้องมีข้อมูลว่าปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุมีมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งการดูแลผู้สูงวัยของคนทั่วโลกนั้นทำอย่างไรกันบ้าง เพื่อนำความรู้ดังกล่าวมาเผยให้คนสูงวัยดูแลตัวเอง ซึ่งจุดนี้ฐานข้อมูลจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญมาก
ยุทธศาสตร์ที่ 4 "มีระบบจัดการที่ดี" ที่ขอใช้เป็น 3 ตัวย่อ คือ E คือความทั่วถึง Q คือความมีคุณภาพ และ E คือมีความเป็นไปได้ทางการเงิน ดังนั้นถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ดี นอกจากทำให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้แล้ว ในปัจจุบันบ้านเรามีพยาบาล 2 แสนคนทั่วประเทศ ในการเข้าไปให้ความรู้ดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการดูแลตัวเองเบื้องต้นมากขึ้นไปอีก เนื่องจากพยาบาล 1 คนจะดูแลผู้ป่วยหลายคน ก็ถือเป็นการกระจายความรู้ ที่สำคัญ รพ.ในพื้นที่ก็จำเป็นต้องมีระบบบริการที่ดีและสมบูรณ์ เพื่อรองรับคนสูงอายุกลุ่มนี้เช่นกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 "การเชื่อมโยงสังคมเข้าไว้ด้วยกัน" เพราะในปัจจุบันนี้เราต่างแยกกันอยู่ แยกกันทำ จึงส่งผลให้สังคมอ่อนแอ ดังนั้นการเชื่อมโยงสังคมไว้ด้วยกันจะทำให้เกิดพลัง ยกตัวอย่าง การเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุผู้สูงอายุ ตามธรรมชาติของสมองนั้น เมื่อมนุษย์ได้เห็นแววตาของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจะก่อให้เกิดความเห็นใจ และอยากทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งตรงนี้เรียกว่าเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติสู่การลงมือทำ ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง