แก้วกานต์ กองโชค ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของไทยในปัจจุบัน ถูกวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ถ้าคุณไม่เปลี่ยน โลกจะเปลี่ยนคุณ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์ “ทิศทางเศรษฐกิจบนความท้าทาย ปี 60” ในระหว่างการบรรยายพิเศษ ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทยในงานสัมมนาด้านการเงินการลงทุน “THE WISDOM Wealth Avenue จับจังหวะโลก เจาะจังหวะลงทุน” เขาวิเคราะห์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเกิดภาวะ 3 ต่ำ และ 2 สูง นั่นคือ 1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำ ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าและมีความเปราะบางสูง และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อไป 2. อัตราเงินเฟ้อต่ำ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าระดับในอดีตค่อนข้างมาก บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่ำ ทำให้เงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ 3. อัตราดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำมานานเป็นประวัติการณ์ การลงทุนของภาคเอกชนทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับต่ำตามไป  สภาวะ 2 สูง ก็คือ 1) ตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวนสูง ตลาดการเงินโลกยังมีสภาพคล่องส่วนเกินในระดับที่สูง ในขณะที่นโยบายเศรษฐกิจการเงินจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น  ส่งผลกระทบให้ตลาดเงินและตลาดทุนอ่อนไหวง่าย นักลงทุนไม่กล้าลงทุน 2) ความเหลื่อมล้ำสูง ผู้ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกระจุกตัวสูง ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ยกตัวอย่างผลสำรวจจาก Oxfam แสดงให้เห็นว่า คนที่รวยที่สุดในโลก 8 คน มีทรัพย์สินเท่ากับคน 3,600 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลก เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่คนรวยที่สุดในโลก 62 คน มีทรัพย์สินเท่ากับจำนวนคนครึ่งโลก นั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง 4 เรื่องสำคัญคือ 1) การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่คาดคิด 2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด  3) เกิดสังคมผู้สูงอายุ และ4) การขยายตัวของชนชั้นกลาง แต่บทวิเคราะห์ของผู้ว่า ธปท. กลับฉายภาพที่ตรงกันข้ามกับ “ภาพการเมือง” ในสายตาของ ศ.ธีรยุทธ บุญมี ศ.ธีรยุทธ ประเทศไทยวิเคราะห์ว่า “ในอนาคตอันใกล้จะวิ่งเข้าสู่วิถีอนุรักษ์และจารีตนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความหวังในการปฏิรูปในระดับโครงสร้างอำนาจมีน้อยมาก เพราะผู้อยู่ในอำนาจทั้งหมดเป็นข้าราชการซึ่งจะสูญเสียอำนาจเมื่อมีการปฏิรูป” ถ้าไม่พิจารณาวาทกรรมของ คสช. ความเป็นจริงที่เกิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ (ก) การดำเนินงานของ คสช. อาศัยข้าราชการ มหาดไทย ทหาร ตำรวจทุกเหล่าเป็นหลัก (ข) นโยบายต่าง ๆ เป็นการเพิ่มอำนาจแก่ข้าราชการและศูนย์กลางมากกว่ากระจายอำนาจ (ค) บุคลากรซึ่งถูกแต่งตั้งไปเป็นประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นนายทหารเหล่าทัพต่าง ๆ จำนวนมาก โดยไม่มีผลงานปฏิรูปใด ๆ ทั้งที่มีการตั้งซูเปอร์บอร์ดศึกษาการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมาแต่ต้น การเปลี่ยนผู้ว่ากทม. ผู้ว่าและบอร์ดรถไฟแทนที่จะตั้งเป้าปฏิรูปองค์กร ก็เพียงแต่รับงานตามประสงค์ของ คสช. ต่อ (ง) บุคลากรในแม่น้ำ 5 สาย เกือบทั้งหมดมีความคิดแบบอนุรักษ์และจารีตนิยม มีผลงานที่ดีบ้างแต่ยังไม่มีที่ให้ความหวังเรื่องการปฏิรูป แต่แสดงออกชัดเจนที่จะผลักให้พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อตัวเองจะได้อยู่ในอำนาจต่อด้วย ดังนั้น จากเรือแป๊ะกับแม่น้ำ 5 สาย จึงเริ่มกลายเป็นยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง ลากจูงกันไป ทุลักทุเลมากขึ้น จนอาจจะเกยหาดหรือติดเกาะแก่งได้ถ้าฝืนอยู่ในอำนาจเกินโรดแมป ปัญหาการปฎิรูปที่สำคัญ คือ (ก) ประชาชนส่วนใหญ่จนซ้ำซาก ความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนคือ ความจนหรือความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจ ถูกซ้ำด้วยความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และทางอำนาจการเมือง จนทำให้ชีวิตตกอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางกายภาพ (ข) กลุ่มอุปถัมภ์ระบาดไปทั่วสังคม นั่นทำให้ ศ.ธีรยุทธ ประเมินว่า “งานในระดับจัดระเบียบ ปัญหาพื้นผิว หรืองานเชิงเร่งรัดนโยบาย เช่น เรื่องรถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟฟ้า จะไม่ทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมเพิ่มมากนัก แต่งานในระดับโครงสร้างอำนาจหรือโครงสร้างรากฐาน เช่น การปราบคอร์รัปชั่น การเร่งรัดคดีคอร์รัปชันที่ค้างคา ที่รัฐเคยประกาศว่าจะจัดการให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วก็ยังไม่คืบหน้า แถมมีคดีใหม่ เช่น เชฟร่อน รถยนต์ญี่ปุ่น เลี่ยงภาษี ปตท. ไม่ยอมคืนท่อแก๊ส การปราบปรามอิทธิพลนอกระบบที่รัฐประกาศจริงจังมานานแล้วก็ไม่คืบหน้า งานในระดับนี้จึงจะดึงศรัทธาประชาชนกลับมาได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจจะนึกถึงภาพรัฐบาล “ตู่ต้นเตี้ย” หรือ “ตู่เตี้ยลง” ก็มีโอกาสเป็นไปได้ก่อนจะจบตามโรดแมปของ คสช.” แปลไทยเป็นไทยอีกครั้ง ผลงานปฏิรูปของ คสช.ยังไม่ประจักษ์สายตา !!!!