ทีมข่าวคิดลึก
แม้ระดับ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การที่"ร่างรัฐธรรมนูญ" และ "คำถามพ่วง" ผ่านการลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาอย่างราบรื่นว่า นี่ย่อมไม่ถือเป็น"ชัยชนะ" ของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ก็ตามทว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นการตอบคำถามจาก "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์"ด้วยความพอใจต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง เมื่อเทียบกับท่าทีปฏิกิริยาจากกลุ่มการเมืองภาคประชาชน นักการเมืองและพรรคการเมือง ที่ดูจะเป็นการ ยากในการเก็บงำความรู้สึกที่เรียกว่า "พลาดหวัง"
ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือความแตกต่างหลัง "ศึกประชามติ" ได้ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม โดยผ่านการนับคะแนนผลการออกเสียงประชามติที่ร้อยละ 94 มีผู้เห็นชอบ 15,562,027 คน คิดเป็นร้อยละ 61.40 ไม่เห็นชอบ 9,784,680 คน คิดเป็นร้อยละ 38.60 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นโดยแม่น้ำสายที่ชื่อว่า "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" หรือกรธ.ที่มี "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นหัวเรือหลัก ได้เขียนกฎกติกาใหม่ โดยได้รับความเห็นชอบจากประชาชน
ผลการออกเสียงประชามติรอบนี้ไม่เพียงแต่ กรธ.ในฐานะผู้ร่าง จะถือว่าประสบความสำเร็จเท่านั้น หากแต่ยังกลายเป็น สิ่งที่ทำให้ คสช. สามารถ
ยืนกุมสภาพ ถืออำนาจได้อย่างชอบธรรมแม้จะเป็นที่ไม่พึงพอใจของฝ่ายตรงข้ามที่มีความเห็นแตกต่างก็ตาม
เพราะแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่ม เท่าใด หรือการที่ "จตุพรพรหมพันธุ์" แกนนำคนเสื้อแดง จะประกาศไม่ขอลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามโรดแมป ของ คสช.ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อีกต่อไป
ชัยชนะจากการทำประชามติรอบนี้ อีกด้านหนึ่งคือการสะท้อนให้เห็นว่าจากนี้ไป "ฝ่ายการเมือง" ต้องเป็นฝ่าย"คิดหนัก" หรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ก็เป็น "นักการเมือง" ที่เป็น "จำเลยสังคม" เพราะถูกชี้ว่าเป็น "ต้นเหตุ"แห่งวิกฤติการเมืองและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จนเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบให้เกิดเป็น "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" ขึ้นมาในที่สุด มิหนำซ้ำร่างฯ ดังกล่าวยังได้รับความเห็นชอบประชามติอีกด้วย
นอกจากนี้ แม้ทหาร จะถูกวิพากษ์และโจมตีจากทั้งในและต่างประเทศในเรื่อง "ที่มา" ของการเข้ามาเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร ไปจนถึงการใช้อำนาจเข้าข่ายลิดรอนสิทธิประชาชนที่เห็นต่างก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลับดูเหมือนว่าชัยชนะจากประชามติ ยิ่งตอกย้ำว่า ทหารไม่ใช่ "ผู้ร้าย" ในสายตาของประชาชนแต่อย่างใด แม้จะมีความเห็นแย้งว่า เพราะ นักการเมือง ประชาชน หรือแม้แต่คนเสื้อแดง เองต่างต้องการลงสนามเลือกตั้งให้เร็วที่สุด จึงยอมให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็ตาม
ความหวั่นไหวที่ดูเหมือนว่า นักการเมือง โดยเฉพาะ "พรรคใหญ่" ทั้ง"ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย"ต้องลุ้นระทึกกันในรอบต่อไป อาจไม่ใช่แค่เพียงเรื่อง"ศึกใน" ของพรรคตัวเองเท่านั้น
หากแต่ยังต้องคอยเงี่ยหูฟังด้วยว่าประเด็นที่ว่าด้วย"เซตซีโร่" นั้นจะเป็นเพียง "ข่าวลือ" หรือ "เรื่องจริง"ขึ้นมาได้ในที่สุด เมื่อจากนี้จะเข้าสู่โหมดของการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วยกันอีกหลายฉบับ เพราะการเมืองวันนี้ อย่าลืมว่าอะไรๆก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น !