รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วันที่ 17 ตุลาคม 2562 เป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2563 และเป็นการอภิปรายวาระแรกเพื่อพิจารณารับหลักการ จึงเป็นที่จับตามองของหลายฝ่ายว่ารัฐบาลจะได้เสียงสนับสนุนให้ผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวหรือไม่?
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การอภิปรายที่ได้รับความสนใจจากสังคมไม่น้อย เพราะหากพิจารณาในมิติด้านการนำเสนอข้อมูล จะพบว่าการอภิปรายดังกล่าว เป็นวิธีการตามกลไกลของระบอบรัฐสภาเพื่อให้รัฐบาลได้ชี้แจงการนำงบประมาณไปใช้เพื่อบริหารประเทศในด้านต่างๆ โดยฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ตรวจสอบ ซักถาม ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในหลากหลายแง่มุม
เมื่อพิจารณาจากประโยชน์ที่ได้รับแล้วทำให้พบว่า “การอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563” ถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลตามแนวทางของการปกครองระบบประชาธิปไตย ซึ่งจะหวังผลถึงขั้นสั่นคลอนความมั่นคง คงต้องติดตามตอนต่อไป แต่หากยังล้มไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นให้สังคมให้เกิดการตื่นตัวในการติดตาม และตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล
“การอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563” นอกจากจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการชี้แจงและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลแล้ว หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมทางการเมือง โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในหัวข้อ “การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 ของรัฐบาลประยุทธ์ 2” จากประชาชนที่เป็น จำนวน 1,034 คน ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ความสนใจของประชาชน ต่อ การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 17 ต.ค. พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 35.02 คือ ค่อนข้างสนใจ เพราะ เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ น่าติดตาม ประชาชนได้รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงมากขึ้น เป็นการพิจารณาเรื่องงบประมาณของทุกหน่วยงานในประเทศ ฯลฯ
รองลงมา ได้แก่ ไม่ค่อยสนใจ ร้อยละ26.75 เพราะ ให้ความสนใจในเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนมากกว่า เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่จะต้องมีการอภิปราย ฯลฯ สนใจมาก ร้อยละ 21.69 เพราะอยากรู้เหตุผลในการนำงบประมาณไปใช้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน เป็นกฎหมายสำคัญ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ฯลฯ และไม่สนใจ ร้อยละ16.54 เพราะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่เชื่อถือนักการเมือง มีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง เสียเวลาในการอภิปราย ฯลฯ
ตามที่รัฐบาลเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ซึ่งมีวงเงินอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2562 จำนวน 2 แสนล้านบาท ประชาชนคิดว่าเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมหรือไม่? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 58.69 คือ ไม่เหมาะสม เพราะ วงเงินงบประมาณมากเกินไป อาจมีการทุจริตคอรัปชั่น ไม่สอดคล้องกับแผนการทำงาน ทำให้ประเทศเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ประชาชนต้องแบกรับภาระ ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ เหมาะสม ร้อยละ 41.31 เพราะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ฯลฯ
ประชาชนอยากให้รัฐบาลนำงบประมาณไปใช้ในเรื่องใด? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 53.15 คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศ รองลงมา ได้แก่ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ร้อยละ 32.38 ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น คนจน เกษตรกร อุทกภัย ภัยแล้ง ร้อยละ 28.73 พัฒนาการศึกษาและเทคโนโลยี ร้อยละ 25.86 และจัดสวัสดิการ รักษาพยาบาลให้กับประชาชน จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ร้อยละ 21.22
สิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอกรัฐบาล กรณี การใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563 คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 46.04 คือ รัฐบาลจะต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และทำได้จริง รองลงมา ได้แก่ ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ร้อยละ 31.68 กระจายงบประมาณให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ร้อยละ 16.24 การจัดสรรงบประมาณต้องเหมาะสม เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 12.21 และประชาชนจะต้องแบกรับภาระ เป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 11.41
ผลการสำรวจครั้งนี้ นอกจากจะเป็นภาพสะท้อนที่แสดงถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอกไปยังรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งหากรัฐบาลมีการนำงบประมาณไปใช้ได้อย่างคุ้มค่า ย่อมทำให้เกิด กระแสตอบรับเชิงบวกในสังคม แต่หากใช้งบประมาณได้ไม่คุ้มค่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร? คงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว
บทสรุปของการอภิปรายจะเป็นอย่างไร? รออ่านข่าวพาดหัว บทความหน้าการเมืองของหนังสือพิมพ์ หลังสิ้นสุดการอภิปราย แล้วจะรู้ว่าอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 นี้ ได้อะไร? มากกว่าที่คิด...จริงจริง..!!