สถาพร ศรีสัจจัง
คงมีคนคิดถึง “เดือนตุลาฯ” กันหลายคน เอาแค่เฉพาะส่วนของคนที่เคยเกี่ยวข้องกับ “เหตุการณ์เดือนตุลาฯ” ทั้ง 2 เหตุการณ์ คือ “14 ตุลาฯ” (2516) และ “6 ตุลาฯ” (2519) โดยเฉพาะเหตุการณ์ “วันฆ่านกพิราบ” 6 ตุลาฯ 2519 ที่ว่ากันว่าเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของ “อำนาจรัฐปฏิกิริยาไทย” และเป็นต้นตอแห่งบาดแผล(ทางจิตวิญญาณ) ของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม...
สองวันก่อนหยิบหนังสือที่วางอยู่ใกล้มือเล่มเล็กๆชื่อ “ไปเหนือก้อนเมฆ” ที่เขียนโดย เสถียร จันทิมาธร (ใช่แล้ว คือเครือญาติผู้ใหญ่ของศิลปินแห่งชาติ,กวีนักเพลงเพื่อชีวิตคนสำคัญที่ชื่อ สุรชัย จันทิมาธร คนนั้นเอง) นักหนังสือพิมพ์ใหญ่ที่ยังคงมีบทบาทอย่างสูงส่งอยู่ในบรรณพิภพปัจจุบัน ยังเป็น “บิ้ก” ในระดับ “thinktang” ของหนังสือพิมพ์รายวัน และรายสัปดาห์วิเคราะห์การเมืองที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดของเมืองไทย ขึ้นมาดูอีกครั้ง(เป็นที่หลายๆ...)
หนังสือเล่มดังกล่าวมีชื่อปก “ไปเหนือก้อนเมฆ” จัดพิมพ์โดสำนักพิมพ์ใบตอง เมื่อ พ.ศ.2524 (หลังเหตุการณ์ “ 6 ตุลาฯ” หลายปี เพราะผู้เขียนน่าจะเพิ่ง “กลับจากวนา” .. เพราะ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ นักหนังสือพิมพ์ใหญ่แห่งยุคสมัยอีกคน ได้เขียน “คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ 2” ให้กับ “จันทนา ฟองทะเล” ผู้เขียนบันทึกเล่มสำคัญของยุคดังกล่าวเรื่อง “จากดอยยาวถึงภูผาจิ” ไว้ตอนหนึ่งว่า “..เมื่อนักศึกษาปัญญาชน ได้ทยอยออกจากป่ากลับมาใช้ชีวิตในวิถีทางที่รัฐบาลเรียกว่า “พลเมืองดี” หรือ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ก็แล้วแต่ ระยะประมาณปี 2524 ...) มีข้อความบางตอนที่ “สะท้อน” สิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ภาพจำ” ของหลายใครเกี่ยวกับเหตุการณ์วันสำคัญดังกล่าวนั้น..
“...ฝันร้ายจากหลายคืนก่อนยังตามมาหลอกหลอน...
เสียงหวีดร้องด้วยความเจ็บปวดเหมือนปลายมีดแหลมกรีดลงไปบนเนื้อนุ่มอย่างฉับพลัน แล้วเลือดสีแดงก็รินไหลออกมา แรงขึ้นและเร็วขึ้น กลิ่นคาวของมันคลุ้งตลบ เงาตะคุ่มของเปรตอสุรกายค่อยๆปรากฏตัว ปากเล็กเท่ารูเข็มของมันเยิ้มด้วยเลือดสด ลิ้นยาวแลบเลียแผล็บๆราวอาการฉกตวัดของงู มือที่เฟอะด้วยน้ำเหลืองลากร่างของชายหนุ่มหญิงสาวที่เนื้อตัวยังอุ่น เลือดแดงไหลอาบเสื้อสีขาวของพวกเขาเหมือนคนเพิ่งขึ้นจากลำธาร
ดวงตาที่เบิกโพลงไม่มีแววหวาดกลัว มีแต่ความเคียดแค้น อัดแน่นจนแทบจะระเบิดออกเป็นเปลวไฟ...”
และ “จันทนา ฟองทะเล” ผู้สร้างบันทึกเป็นหนังสือชื่อ “จากดอยยาวถึงภูผาจิ” ที่วงวรรณกรรมถือกันว่าเป็น
“บันทึกจากป่าเขา” ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องราว “ชีวิตในป่าเขา” (ภาคเหนือ) ของนักศึกษาปัญญาชนที่เข้าไปร่วมต่อสู้รัฐบาลไทยด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทยหลังเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ” ก่อนจะสลายตัวคืนกลับเมืองในช่วงประมาณปี 2524 ดังกล่าวมา ได้บันทึก “ความรู้สึก” ในฐานะปัจเจกชน “คนในขบวน” คนหนึ่งเกี่ยวกับผลสะเทือนของเหตุการณ์“6 ตุลาฯ” (2519)ไว้ในตอนต้นเรื่องว่า
“... ปลายเดือนตุลาคม 2519 ผมเดินเข้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง...หลังจากมหาวิทยาลัยถูกปิดเพื่อทำความสะอาดกลบเกลื่อนการฆาตกรรมหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม
... มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนั้นสะอาดเรียบร้อย ตามผนังตึกมีเพียงร่องรอยที่ขัดล้างไม่หมดของเศษโปสเตอร์ กับรูกระสุนบนผนังปูนตึกนิติศาสตร์ ช่วงเวลาเพียง 15 นาที ผมก็รู้แล้วว่า ผมไม่อาจจะทนอยู่ที่นี่ได้อีกต่อไป
มหาวิทยาลัยของประชาชน ได้ถูกฆ่าตายไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พร้อมๆกับชีวิตผู้คนจำนวนมาก...”
และอีกตอนที่สำคัญยิ่งว่า :
“ ผมคิดถึงจดหมายลาแม่ที่หยอดใส่ตู้ไปรษณีย์ในเช้าวันที่ผมขึ้นรถออกจากกรุงเทพฯ เป็นจดหมายฉบับแรก และฉบับเดียวในชีวิตที่ลูกชายคุยกับแม่ถึงรายละเอียดอุดมการณ์ทางการเมือง ผมยังไม่เข้มแข็งหรือกล้าหาญพอที่จะพูดกับแม่ซึ่งหน้า และคิดว่าแม่ก็คงไม่เข้าใจว่า การทอดทิ้งแม่และพี่น้องไปสู่ดินแดน และผู้คนอันเราไม่เคยรู้จักจะเป็นเรื่องจำเป็นนักหนา หรือการลาจากโดยไม่มีกำหนดเวลาของผมจะเป็นประโยชน์อันใดกับใคร...”
ที่จริงเรื่องราวที่เป็นบันทึก บทกวี เรื่องสั้น นิยาย(แม้แต่ภาพยนตร์) บทความ บทวิเคราะห์ กระทั่งงานวิจัย
ที่เกี่ยวกับเรื่องราว “14 ตุลาฯ” และ “6 ตุลาฯ” นั้นมีมากจนแทบจะอ้างไม่สิ้น ที่ยกของท่านเสถียร จันทิมาธร กับ จันทนา ฟองทะเลมาเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยก็เพราะเห็นว่าทั้ง 2 ชิ้น แสดง “ภาวะตกกระทบทางอารมณ์” ของเรื่องราวความเป็น “คนในสังคมไทย” เกี่ยวกับเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ” ได้อย่างให้ความรู้สึกเข้มข้น(และจริง)ยิ่ง!
ส่วนบทประมวลสรุปเกี่ยวกับความ “คิดถึงเดือนตุลาฯ” จะมีหรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องว่ากันอีกที!!