ทีมข่าวคิดลึก แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นเสมือน "สนามรบที่ยืดเยื้อ" เพราะจนวันนี้ ยังไม่ปรากฏว่า "ผู้ต้องหา" ที่ชื่อ"พระธัมมชโย" อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จะเดินทางเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถึงกระนั้น แม้จะยืดเยื้อ ต้องใช้เวลา และความอดทน อดกลั้น จากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งฟากพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์ของวัด ก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างที่สุด ! แม้ก่อนหน้านี้ "บิ๊กทหาร" จะออกมาเรียกร้อง ขอไม่ให้มองเหตุการณ์ที่วัดพระธรรมกายเป็น "สนามรบ" เนื่องจาก ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และพระสงฆ์ พี่น้องประชาชนที่ศรัทธาวัดพระธรรมกายล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยเหมือนกัน และไม่มีใครเป็น "ศัตรู" กันทั้งสิ้นหากแต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว การเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการสนธิกำลังร่วมกันทั้งสามฝ่าย ระหว่าง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเจ้าของคดีติดตามจับกุมพระธัมมชโย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีฟอกเงิน ได้ขอกำลังสนับสนุนจากตำรวจและทหาร เข้าร่วมปฏิบัติการทั้งการเข้าค้นภายในวัดเพื่อตามหาตัวพระธัมมชโยรวมทั้งยังมีการวางกำลังเอาไว้โดยรอบบริเวณวัด ตามคำสั่ง คสช. ใช้มาตรา 44 ให้วัดเป็นพื้นที่ควบคุม ต่างต้องเจอกับแรงกดดัน จากการทำงานเพื่อสกรีนคนเข้าออกภายในวัด จึงเกิดการกระทบกระทั่งกันมาแล้ว การใช้ความอดกลั้น ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหาร ที่ดูเหมือนว่าจะเป็น "หลัก" ในการควบคุมพื้นที่ ตลอดระยะเวลาสิบกว่าวันที่ผ่านมา จึงถูกจับตามอง ไม่ต่างไปจากการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์เช่นกัน อย่างไรก็ดี การประกาศใช้มาตรา44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้า คสช. นับตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาได้ถกอธิบายถึงความจำเป็นจาก พล.อ.ประยุทธ์ว่า เพราะไม่สามารถใช้ "กฎหมายปกติ"ดำเนินการกับกรณีของพระธัมมชโย ที่หลบหนีคดีตามหมายจับ ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะ คสช.รู้ดีว่านี่คือรายการ "แหย่รังแตน" ก็คงไม่ผิดนัก เพราะผู้ต้องหารายนี้ ยังเป็นเหมือนศาสดาที่มีมวลชนให้ความศรัทธาอย่างท่วมท้น จนมีความพยายามโจมตีฝ่ายรัฐบาล ว่ามุ่งใช้กฎ หมายเพื่อทำลายพระพุทธศาสนาแต่แม้จะมีแรงกดดันต่อ พล.อ. ประยุทธ์ และรัฐบาลมากเท่าใด ก็ยังไม่พบสัญญาณให้มีการยกเลิกมาตรา 44 แต่อย่างใด มิหนำซ้ำ ยังมีแนวโน้มว่า จากนี้ไปจะมีรายการ "เพิ่มยาแรง"มากขึ้น เพราะขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ ปิดล้อมวัดพระธรรมกาย สกัดไม่ให้มีการเติมคนเข้าไปเพิ่ม ยังพบว่า ในอีกทางหนึ่งรัฐบาลยังใช้วิธีการปิดช่องโหว่ด้วยการ "เปลี่ยนตัว" เจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละจุดที่เป็นอุปสรรคคือการทำงาน นอกจากนี้ ยังต้องไม่ลืมว่า มีความเคลื่อนไหวจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เตรียมจะพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ ว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพย์สิน มรดกของพระสงฆ์ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นอีกหนึ่งกลไก ที่รัฐบาลจะถือเป็นจังหวะในการ"ปฏิรูป" วงการสงฆ์ ไปพร้อมกับการดำเนินการกับวัดพระธรรมกายในคราวเดียวกันด้วยหรือไม่ ? อีกทั้งยังพบว่า ไม่เพียงแต่ฟากวัดพระธรรมกายจะใช้โลกโซเชียล ปลุกระดมฝ่ายสนับสนุนให้เปิดหน้ารบกับรัฐบาลเท่านั้น แต่ฝ่ายดีเอสไอและกองทัพเอง ได้มีความเคลื่อนไหวผ่านโลกโซเชียล ใช้เฟซบุ๊ก และไลน์ ให้ข้อมูล เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าเดินแลกกันหมัดต่อหมัด เช่นกัน สิ่งที่กำลังสะท้อน ในเวลานี้คือการใช้ยาแรง มาตรา44 ยังไม่ถูกยกเลิก แต่กลับมีการ "รุก"เพื่อ "ล้อมกรอบ" ในแนวรบด้านอื่นๆ เพื่อกดดันพระธัมมชโยให้ออกมามอบตัว อย่างไม่ลดละเช่นกัน!