แสงไทย เค้าภูไทย
ขีดแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยถดถอยอีกครั้ง หลังจากตกไปหลังยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ แล้วกลับกระเตื้องในสองปีหลังจากนั้น ตกยาวมาจนถึงวันนี้
จากการที่ “เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม” รายงานผลการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจปี 2019 ที่ระบุว่าสิงคโปร์แซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งหลังสงครามการค้า โดยมีไทยอยู่อันดับที่ 40 ร่วงลงจากปีที่แล้ว 2 อันดับ
ขณะที่คู่แข่งไทยในเวทีการค้าโลกเวียดนามอยู่อันดับที่ 67 แต่ได้รับการพิจารณาว่า มีพัฒนาการมากที่สุด
สหรัฐฯ ที่เคยครองอันดับ 1 มาตลอดจนถึงปีที่แล้ว ตอนนี้สูญเสียตำแหน่งให้แก่สิงคโปร์ไปเสียแล้ว
สิ่งที่น่าจับตาก็คือ เวียดนามที่บรรดากูรูเศรษฐกิจไทยเคยปรามาสไว้ในช่วง ปี 2010-15ว่า กว่าจะตามทันไทยได้จะต้องใช้เวลาถึง 15 ปี
แต่มาวันนี้ ผ่านมาแค่ 5 ปีเวียดนามแซงไทยไปแล้ว
สภาเศรษฐกิจโลกใช้ตัวชี้วัด 103 ด้านในการจัดอันดับ 141 เศรษฐกิจโลก โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 12 ปัจจัยชี้วัด
คือ 1.สถาบันที่เกี่ยวกับกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติ 2.โครงสร้างพื้นฐาน 3.การปรับตัวรับเทคโนโลยีสารสนเทศ 4.เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค 5.การสาธารณสุข 6. ทักษะแรงงาน 7.ตลาดซื้อขายสินค้า 8.ตลาดแรงงาน 9.ระบบทางการเงิน 10.ขนาดของตลาด 11.ความคล่องตัวของธุรกิจ 12.ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมนำมาประมวลผลตัวชี้วัดด้านต่างๆ ออกมาเป็นคะแนนเต็ม 100 คะแนน
ผลการจัดอันดับ Top Ten ได้แก่ 1.สิงคโปร์ 84.8 คะแนน 2. สหรัฐ 83.7 คะแนน 3.ฮ่องกง 4.เนเธอร์แลนด์ 5.สวิตเซอร์แลนด์ 6.ญี่ปุ่น 7.เยอรมนี 8.สวีเดน 9.สหราชอาณาจักร และ10.เดนมาร์ก
น่าเสียดายที่ฮ่องกงเกิดสถานการณ์วุ่นวายทำลายตัวเองทั้งๆที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงใกล้เคียงกับสิงคโปร์และสหรัฐมาก จนน่าจะขึ้นไปอยู่ตำแหน่งสูงสุด
ล่าสุดก่อนเกิดเหตุวุ่นวายทางการเมือง ฐานะการคลังของฮ่องกงเกินดุลมากจนถึงกับ นำเงินส่วนเกินมาแจกประชาชนในลักษณะคืนภาษี เพราะรายได้คลังก้อนใหญ่สูงสุดมาจากภาษีเงินได้และภาษีการค้า(Vat)
ฮ่องกงมีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้ว 4 อันดับด้วยพัฒนาการของภาคสาธารณสุขและระบบทางการเงิน แต่ข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์นั้นรวบรวมมาก่อนเกิดเหตุประท้วงต่อเนื่องซึ่งยังคงดำเนินอยู่
สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 โดยมีตกลงมาจากปีที่แล้ว 2 อันดับ แม้จะมีคะแนนเพิ่มขึ้น 0.6 คะแนน
จุดด้อยที่ฉุดคะแนนของไทย คือ ด้านความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และมีการใช้งบเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่ำมากได้คะแนนแค่ 26.0 คะแนน
ในด้านทักษะแรงงาน คะแนนด้านการคิดเชิงวิพากษ์ในการเรียนการสอนของไทย (critical thinking) อยู่ที่ 37.0 คะแนน
ส่วนตัวชี้วัดที่ไทยได้อันดับดีที่สุดคือด้านระบบทางการเงิน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 16 จาก 141 อันดับด้วยคะแนน 85 คะแนน
ตัวชี้วัดตัวนี้ รวมถึงฐานะการเงินและเสถียรภาพเงินตรา คือค่าบาทแข็งที่สุดในเอเชียและอันดับต้นๆของโลก ดูแล้วน่าจะดีกับไทย
แต่แท้จริงแล้วกลับมีผลทางลบ เพราะค่าบาทในช่วงนี้ แข็งระดับ 30.30-30.40 ต่อดอลลาร์สหรัฐถือเป็นค่าเงินที่แข็งที่สุดในรอบ 6-9 ปี
ผลคือการส่งออกติดลบ เพราะสินค้าไทยแพงขึ้น เมื่อกระทบกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ก็ยิ่งทรุดหนัก
ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องแก้จุดนี้ให้ได้ก่อนที่ชาติที่มีศักยภาพทางการค้าสูงอย่างเวียดนามและจีนจะแย่งตลาดไปจากไทยในทุกด้าน
อุตสาหกรรมส่งออกต้องการค่าบาทอ่อนที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์
ในบรรดาสินค้าส่งออกสำคัญๆของไทย 10 ประเภทนั้น จีนกับเวียดนามแย่งและแทรกไปแล้วถึง 7 ประเภท
ตัวการสำคัญที่ทำให้ไทยสูญเสียตลาดคือค่าเงิน ที่ด่องของเวียดนามอ่อนค่าตลอด เมื่อใดที่ค่าด่องแแข็ง ธนาคารกลางเวียดนามก็จะลดค่าเงิน โดยไม่คำนึงถึงเสถียรภาพด่อง
ทำให้อัตราเติบโตทางการค้าของเวียดนามพุ่งพรวดๆ จึงแม้จะอยู่ในอันดับที่ 67 แต่เวียดนามกลับเป็นประเทศที่มีพัฒนาการสูงที่สุดจากทั้งหมด 141 เศรษฐกิจ โดดขึ้นมาถึง 10 อันดับ
ผลพวงจากสงครามการค้าทำให้บริษัททั่วโลกย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนามแทน หรือขยายฐานจากบ้านตัวเองไปเวียดนามอย่างยักษ์ใหญ่ของไทยหลายบริษัทเป็นต้น
แม้แต่อุตสาหกรรมส่งออกจีนเองก็เถอะ พากันขยายฐานการผลิตมาเวียดนามและใช้เวียดนามเป็นประเทศกำเนิดสินค้าแทนจีน(country of origin)
ช่วยเพิ่มตัวเลขการลงทุนต่างประเทศ ( FDI) และยังเพิ่มอัตราเติบโตด้านส่งออกจนเวียดนามมีอัตราเติบโตส่งออกสูงที่สุดในอาเซียนคือ 15.1%และสูงสุดอันดับ 21 ของโลก ส่งถึงคะแนนขีดแข่งขัน เพิ่มขึ้น 3.5 คะแนน
ส่วนไทยส่งออกเเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ที่ -5.8% (YOY)
ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% จากการลดลงมา .25% เมื่อ 9 สิงหาคม ศก.นี้ ขณะที่ดอดเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐลดลง 2 ครั้งในปีนี้และส่อเค้าจะลดอีกในช่วงไตรมาสที่เหลือ
ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 5 และ 10 ปีต่ำลง เงินทุนจึงไหลไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างตลาดเกิดใหม่ที่มีไทยเป็นสมาชิก
ทำให้ค่าบาทแข็งขึ้นเพราะมีเงินตาาต่างประเทศเป็น Fund Flow เข้ามาหนุน
กอร์ปกับธปท.เน้นเสถียรภาพทางการเงิน โดยสะสมสำรองเงินตราต่างประเทศมากจนติดอันดับโลกต้นๆทั้งสำรองเงินตราต่างประเทศ สำรองทองคำและสิทธิพิเศษถอนเงินใน IMF (SDR)
นอกจากนี้ จีนยังใช้การลดค่าเงินหยวนเพื่อเป็นอาวุธสู้สงครามการค้ากับสหรัฐ จนขณะนี้หยวนอ่อนค่า ต่อดอลลาร์ 7% แล้ว
จึงกลายเป็นภาระที่ธปท.จะต้องทำให้บาทอ่อนค่าตามคู่ค้าทั้งสอง คือสหรัฐและจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด
ทำให้คาดการณ์กันว่าธนาคารกลางของไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย
จะต้านภาวะถดถอยที่มองกันว่าจะเกิดขึ้นภายในปีหน้าได้หรือไม่ ไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอีกปัจจัยหนึ่ง
นั่นคือเสถียรภาพทางการเมืองที่มีทหารออกมาข่มขู่ฝ่ายการเมือง ทำลายบรรยากาศการลงทุนฉมังที่สุดในยามนี้