ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี งบประมาณ 2563 นั้นจะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.นี้ ได้มีสำนักโพล คือสวนดุสิตโพล ไปทำการสำรวจคิดเห็นของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนให้ความสนใจ
ซึ่งเมื่อถามว่าตามที่รัฐบาลเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 มีวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 2 แสนล้านบาท ประชาชนคิดว่าเป็นจำนวนเงินเหมาะสมหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.69 ระบุ ไม่เหมาะสม เพราะวงเงินงบประมาณมากเกินไป อาจมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่สอดคล้องกับแผนการทำงาน ทำให้ประเทศเป็นหนี้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนต้องแบกรับภาระ ขณะที่ร้อยละ 41.31 ระบุ เหมาะสม เพราะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.38 เชื่อว่า การอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณ จะผ่านการพิจารณา เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก
ดูเหมือนว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะถูกจับตาในมิติด้านการเมืองมากกว่า มิติทางด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขงบประมาณวงเงินกว่า 3.2 ล้านล้านบาท จะนำไปบริหาร และลงทุนต่างๆ
ด้วยตระหนักกันดีว่า ร่างกฎหมายการเงินฉับบนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากไม่ผ่านสภาฯ นายกรัฐมนตรีจะต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” หรือ “ลาออก” ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ประกอบกับสภาวะที่เสียงสนับสนุนของรัฐบาลและฝ่ายค้านนั้นก้ำกึ่งกัน หรือที่เรียกว่า “ปริ่มน้ำ” ด้วยแล้ว ทำให้มีความกังวลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกคว่ำ
อย่างไรก็ตาม แม้โพลจะเชื่อว่าร่างกฎหมายจะผ่านสภาฯ แต่ที่ผ่านมา ในการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตให้กับฝ่ายค้านซ้ำซาก แม้จะไม่ใช่กฎหมายสำคัญก็ตาม
แต่ก็มีการจับตาสัญญาณบางอย่าง จากการลงมติขัดขวางญัตติ คณะกรรมการวิสามัญตรวจสอบโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) พบว่ามี ส.ส.ฝ่ายค้านโหวตสวน รวมแล้วกว่า 20 คนในจำนวนนี้มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยนับสิบคน ทำให้มีการจับตาว่าในการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรอบนี้ จะมีส.ส.พรรคฝ่ายค้านโหวตสวนมติพรรคหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.ซึ่งสามารถทำลงมติได้โดยอิสระ
ฉะนั้น 1 เสียงของส.ส. จึงมีความสำคัญ สำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างยิ่ง
การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณครั้งนี้ จึงมีการจับตาเป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนถึงการบริหารจัดการภายในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และที่สำคัญคือ บทบาทของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่า ในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านจะมีการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ในฐานะฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบแทนประชาชน ว่างบประมาณได้รับการจัดสรรให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศมากน้อยแค่ไหน เพื่อประโยชน์สำหรับประชาชนอย่างแท้จริง หากทำได้เช่นนั้น ก็จะเรียกศรัทธาจากประชาชนให้กับฝ่ายค้านเป็นอย่างมาก