ทวี สุรฤทธิกุล กระบวนการยุติธรรมก็มีการเลือกข้างด้วยเช่นกัน การเลือกข้างในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการตัดสินคดีความของท่านผู้พิพากษา แต่หมายถึงการเลือกข้างในบางขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์ตรง โดยเฉพาะในคดีความที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ที่ผู้เขียนได้เข้าไปเกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ ก่อนอื่นต้องขออธิบายสักเล็กน้อยเพื่อให้ท่านผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ว่า กระบวนการยุติธรรมนั้นมีอยู่ 4 ขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนก็จะมี “ผู้รับผิดชอบ” แตกต่างกัน เริ่มจากเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมาย “ตำรวจ” จะเป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมขั้นตอนแรก คือจับกุมคนร้ายแล้วตั้งข้อหา พร้อมกับรวบรวมพยานหลักฐานและสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อมูลว่ามีการกระทำผิดจริง ขั้นตอนต่อมาตำรวจจะส่งสำนวนการสอบสวนนั้นให้ “อัยการ” เพื่อตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนก่อนที่ส่งฟ้องศาล ซึ่ง “ศาล” จะเป็นกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนต่อไป ที่จะต้องมีหน้าที่ไต่สวนกระบวนความทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ให้ได้ความชัดเจนและละเอียดรอบคอบที่สุด ก่อนที่จะ “ตัดสิน-พิพากษา” เอาผิดหรือปล่อยตัวจำเลย หากจำเลยมีความผิดต้องได้รับโทษ ก็จะส่งไปยัง “ราชทัณฑ์” ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เอาตัวจำเลยนั้นไปคุมขังจนถึงประหารชีวิต ตามแต่ความหนักเบาของการกระทำผิดนั้นๆ นานมาแล้วที่มีการล้อเลียนกันถึง “ความไม่ค่อยดี” ของกระบวนการยุติธรรม ก็จะมีการพูดให้คล้องจองกันถึงความไม่ค่อยดีของทั้ง 4 กระบวนการดังกล่าว (ซึ่งผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านที่พอจะมีประสบการณ์คาดเดากันเอาเอง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อหาหมิ่นประมาท) ว่า “... วิ่งกิน ... ยืนกิน ... นั่งกิน และ ... นอนกิน” เรียกว่ามีความไม่ค่อยดีตามอากัปกริยาในการทำหน้าของผู้เกี่ยวข้องในแต่ละกระบวนการนั้นนั่นเอง มาในสมัยนี้ ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองกันมาก คนไทยมีการ “แยกขั้ว-แบ่งข้าง” เป็นพวกๆ อย่างน่าเศร้าใจ ทั้งยังลุกลามมาในกระบวนการยุติธรรม ที่เด่นชัดก็คือ “ตำรวจ” ซึ่งในสมัยที่อดีตนายกฯหนีคดียังมีอำนาจอยู่ ก็ดูเหมือนจะเอาใจผู้นำคนนั้นอย่างไม่ละอาย จนถูกตราหน้าว่าเป็น “ตำรวจมะเขือเทศ” คือมีสีแดงตามกลุ่มที่สนับสนุนอดีตนายกฯคนดังกล่าว นอกจากนี้ระบบศาลบางศาลก็ถูกกระทบกระเทือน รวมถึงองค์กรอิสระบางองค์กรที่มีหน้าที่ในการดูแลความยุติธรรมทางการมือง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ถูกกระแสการเมืองชักพาให้เสียหายด้วย อย่างกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุด “อย่างหนา 5 ห่วง” ถูกเช็คบิลติดคุกทั้งคณะ ภายหลังการสิ้นอำนาจของอดีตนายกฯคนนั้น สำหรับส่วนตัวผู้เขียนที่ได้มาเกี่ยวข้องกับการ “แยกขั้ว-แบ่งข้าง” ของกระบวนการยุติธรรม ก็เพราะต้องมาเป็น “พยานโจทก์” ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่หลายคดี ตอนนี้ก็เดินขึ้นศาลทุกเดือนเพื่อให้การยืนยันถึงการกระทำผิดในฐานะ “พยานผู้เชี่ยวชาญ” ที่จะให้ข้อมูลต่อศาลว่าการกระทำผิดของจำเลยนั้น “ส่งผล” ต่อการเมืองการปกครองอย่างไร ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และมีบทบาททางการเมืองมากว่า 30 ปี (แต่ตัวผู้เขียนเองคิดว่าที่ตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี – ปอท. มาขอให้ผู้เขียนทำหน้าที่นี้ ก็เพราะเดินทางมาพบได้สะดวก เนื่องจาก ปอท.กับ มสธ.ก็อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ห่างกันแค่ไม่กี่กิโลเมตร แต่ที่สำคัญก็คือผู้เขียนไม่เคยปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้) คดีที่ว่านี้ก็คือคดีเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” จำพวกมาตรา 112 และ 116 ในกฎหมายอาญา อันเป็นการกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ที่กระทำผ่านคอมพิวเตอร์ จำพวกเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย (จึงทำให้ ปอท.ต้องเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้) ซึ่งทางตำรวจบอกว่าต้องรับทำคดีนี้เดือนละเป็นร้อยๆ เรื่อง แม้ว่าในทางการสืบสวนสอบสวนจะไม่มีความยุ่งยากอะไร เพราะการค้นหาตัวผู้กระทำผิดสามารถสืบค้นผ่านเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ไม่ยากนัก เพียงแต่ว่าผู้กระทำความผิดบางคนไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ อย่างนี้ก็ตามจับกุมตัวยากหน่อย แต่ที่เป็นปัญหามากกว่านั้นก็คือ การหาคนมาเป็นพยาน โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และความมั่นคงนี้ อย่างคดีที่มีนักการเมืองคนหนึ่งโพสต์ข้อความเรื่อง “หมุดคณะราษฎร(บนพื้นลานพระบรมรูปทรงม้า)หายไป” ตำรวจต้องไปหาพยานจากผู้คนที่เคยเห็นหมุดดังกล่าวมาให้ความเห็นเรื่องผลกระทบต่อความรู้สึกและการทำมาหากิน ก็หาได้ยากยิ่ง ส่วนที่ผู้เขียนต้องไปให้การก็คือหมุดดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งผู้เขียนก็ได้ให้การไปตามความรู้ที่รู้มาว่า เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่จะกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ ผู้เขียนตอบว่า “ไม่ทราบ ก็อย่างที่เราๆ ก็รู้กันดีว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร” (พอมาถึงตรงนี้ท่านผู้พิพากษาก็ท้วงขึ้นว่า “ใครคือเรา” ผู้เขียนเลยบอกว่าตัวผู้เขียนกับคนที่รู้เรื่องนี้คนอื่นๆ หาใช่ศาลแต่อย่างใดไม่) อีกคดีหนึ่งก็คือคดีที่มีผู้โพสต์ข้อความหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก่อนวันที่นัดขึ้นไปให้การกับศาลก็มีนัดหมายพยานบางคนไว้แล้ว แต่พอถึงวันนัดก็ “เบี้ยว” เสียเฉยๆ โดยอ้างว่า ลืมคำให้การบ้าง ขอเปลี่ยนคำให้การบ้าง (แต่ความจริงนั้นพยานเหล่านี้มีความ “หวันเกรง” จนถึง “หวาดกลัว” ถึงภัยอันตรายที่อาจจะมีต่อตนเองและครอบครัว โดยเห็นว่าเป็นคดีการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายดังกล่าว) ผู้เขียน เขียนบทความนี้เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับ “การให้ความร่วมมือของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม” (ที่จริงผู้เขียนปรึกษากับผู้รู้แล้วว่าการวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมแบบนี้กระทำได้หรือไม่ บางท่านก็บอกว่าไม่ควรทำจนกว่าคดีจะสิ้นสุด แต่บางท่านก็บอกว่าถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ก็สามารถกระทำได้) ซึ่งมีอุปสรรคอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในอนาคต เพราะถ้าหากประเทศไทยจะเป็น “นิติรัฐ” ประชาชนก็ต้องเคารพและให้ความร่วมมือในกระบวนการยุติธรรมนั้นด้วย กฎหมายจึงจะมีความศักดิ์สิทธิ์ และบ้านเมืองก็จะมีความสงบสุข เรื่องนี้ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของบิ๊กตู่ ที่วางแผนจะแก้ปัญหาต่างๆ ให้เสร็จใน 20 ปีเอาไปจัดการให้เรียบร้อยด้วย