ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง ที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่าจะนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งและเผชิญหน้า
ศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนกันยายน 2562 ปรากฏว่าปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ในทุกรายการ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 72.2 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 73.5 เป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังมีผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว
ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาขณะนี้ ทางศูนย์พยากรณ์ฯ ประเมินว่ายังคงมีความล่าช้าและไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่าที่ควร ทั้งเม็ดเงินจากการโอนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการการประกันรายได้เกษตรกร และชิมช้อปใช้ ที่เม็ดเงินยังไม่เข้าสู่ระบบเท่าที่ควร รวมถึงยังไม่กระจายสู่ต่างจังหวัดมากนัก ประกอบกับสถานการณ์เทรดวอร์ที่มีความเป็นไปได้ว่าการเจรจาจะไม่ประสบความสำเร็จ สหรัฐฯอาจมีการปรับขึ้นภาษีกับประเทศจีนในเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้
พร้อมกันนี้ยังให้ความเห็นว่า หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นผลไตรมาส 4/2562 กังวลว่าเศรษฐกิจจะซบเซายาวไปถึงปี 2563 ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งหามาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัดให้มากขึ้น เพราะจากมาตรการที่ออกมามีการใช้จ่ายแค่ตามหัวเมืองของแต่ละจังหวัดเท่านั้น
ขณะที่ล่าสุดธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 3.5% เนื่องมาจากหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น การส่งออกที่ลดลงมากกว่าคาดการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 62, ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำและมีผลเหนี่ยวรั้งตัวเลขการลงทุนภาครัฐ
พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 มาที่เติบโต 2.9% จากเดิม 3.6% ก่อนจะขยายตัวเป็น 3.0% ในปี 64 ขณะที่ปรับลดคาดการณ์การส่งออกในปีนี้มาเป็นหดตัว -5.3% จากครั้งก่อนคาดว่าจะขยายตัว 2.2% ส่วนในปี 63 คาดว่าการส่งออกจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้ 0.2%
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลอนุมัติออกมาในเดือน ส.ค.2562 นั้น ธนาคารโลก ระบุว่ามุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยผ่านการโอนเงินให้โดยตรง การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การคืนภาษีจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การขยายยกเว้นค่าวีซ่าสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่กำหนดนั้น น่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ส่วนในระยะปานกลาง ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกำลังของตัวทวีทางการคลัง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก ประเมินว่า สถานการณ์ความเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด อันจะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจอยู่ต่อไปถึงความเหนียวแน่นของรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมจาก 19 พรรคการเมือง ความล่าช้าของการดำเนินงานตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐอาจส่งผลในทางลบต่อมุมมองของนักลงทุนและความมั่นใจของผู้บริโภค ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจทำให้อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอลง แม้ว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีความคืบหน้า แต่ยังมีความเสี่ยงว่าอาจเกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน จะเห็นได้ว่า รายงานจากทั้ง ศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และธนาคารโลก ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ฉะนั้น ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารสถานการณ์ต้องทันเกม ต้องเป็นทั้งนักการเมือง นักเศรษฐศาสร์ และนักบริหารในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่แค่นักปกครอง