ทวี สุรฤทธิกุล “โรคหินหักอยู่กับต้นโพ” คือคำตัดพ้อของ ร.5 ที่ทรงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศที่ทำได้ยากนั้น เป็นเพราะขุนนางมีความแตกแยกเหมือนหินหักแตกออกเป็นก้อนๆ ส่วนความคิดที่จะพัฒนาประเทศนั้นก็เหมือนต้นโพ(ตามพระราชนิพนธ์ใช้คำว่า “ต้นโพ” แบบนี้)ที่เกิดอยู่ท่ามกลางหินหักเหล่านั้น จึงยากยิ่งที่จะเจริญงอกงามไปได้ เป็นโรคอันตรายที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ดังความที่ทรงมีพระบรมราชาธิบายต่อไปว่า “ข้าพเจ้าก็รู้อยู่ว่าเหมือนกับเพิ่มทวีโรคของตัวซึ่งได้มาเผาผลาญอยู่เป็นนิจ คือ โรคหินหักอยู่กับต้นโพ เพราะเป็นการง่ายที่จะหลีกเลี่ยงความเปื่อยแฉะเชือนแชของตัว ว่าเพราะไม่ทรงอย่างนั้น ไม่ทรงอย่างนี้ ที่สุดจนสั่งแล้วไม่เห็นถามอีกจึงได้รอไว้ ซึ่งจะว่าตามที่จริงแท้ เป็นความผิดของผู้ที่รับคำสั่งนั้นเอง ยิ่งใหญ่ที่ได้รับคำสั่งข้าพเจ้าครั้งหนึ่งแล้วไม่ไปทำตามให้ตลอด แล้วมาพูดจะเป็นไว้อัชณาก็ไม่ใช่ จะเป็นสารภาพว่าผิดก็ไม่ใช่ กลายเป็นกล่าวโทษข้าพเจ้า และคนทั้งปวงก็มักจะลงเนื้อเห็นตัดสินเอาข้าพเจ้าเป็นผิดด้วย นี่เป็นโรคอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งนั้น ผู้ใดคิดการอันใดจะใช้ได้ก็ดี มิได้ก็ดี อ้างแต่ว่าตัวได้คิดได้กราบทูลแล้ว ข้าพเจ้านิ่งเสียก็เป็นจนใจอยู่ เป็นแต่พูดอวดนอกๆเล่นว่าได้คิดการแผ่นดินแผ่นทรายเว้นแต่ไม่สำเร็จไป เพราะไม่มีอำนาจ ครั้นเมื่อขอให้แก้ใหม่โดยชี้แจงเหตุขัดข้องให้ไป หมดความคิดอย่างไรเข้า ก็ลงยกโทษผิดข้าพเจ้าอย่างเช่นที่กล่าวในครั้งแรก อีกอย่างหนึ่งนั้นไม่มีอันใดนอกจากแล้วแต่จะโปรด ถึงโดยสั่งเสียไปว่าให้ไปคิดจัดการตามตำแหน่ง ก็ไม่ไปคิดอ่านอันใด นิ่งอยู่เรื่อยๆอยู่จะตักเตือนไต่ถามก็ไม่ว่า เมื่อไปเกิดเหตุการอย่างไรก็ซัดแต่ยังไม่ได้พระกระแส โรคหินหักทิ้งต้นโพนี้ เป็นโรคใหญ่มีประเภทต่างๆพ้นที่จะพรรณนา ที่ยกมาว่านี้เป็นแต่อุทาหรณ์ การที่เป็นดังนี้เพราะเหตุใด เพราะเหตุที่ความรู้และสติปัญญาของผู้ที่คิดการหรือผู้ที่รับการไม่พอที่จะประคองความคิดของตัวไปให้ตลอดสำเร็จและไม่พอที่จะทำการตามตำแหน่งของตัวที่ได้รับการอย่างหนึ่งเพราะปราศจากความจงรักภักดี คือตัวความสามัคคีนั้นเองอีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะรวมความคิดกันลงเป็นทางกลางอย่างเดียว เช่นได้กล่าวชักชวนมาข้างต้น และจะถือเอาอำนาจเจ้าแผ่นดินเป็นประมาณตามอย่างเก่านั้นแล้วก็ดี แต่ยังมีโรคหินหักทิ้งต้นโพอยู่อย่างนี้ จะนับว่าเป็นสามัคคีตามคาถาที่ว่ามาในเบื้องต้นนั้นก็ยังไม่ได้ และจะไม่อาจทำความเจริญให้แก่บ้านเมืองได้โดยเร็วด้วย” พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเสนอ “วิธีรักษาโรคหินหักอยู่กับต้นโพ” ว่าทุกคนจะต้องมีความสามัคคี มีความพร้อมเพรียงที่จะคิด จะทำ และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปด้วยกัน ด้วยการประสานประโยชน์เห็นชอบไปด้วยกัน อย่างที่ทรงเรียกว่า “เดินทางกลาง” ดังข้อความในพระราชนิพนธ์ต่อไปนี้ “ถ้าหากว่ายินยอมพร้อมใจกันเดินทางกลางแล้ว ก็ยังจะต้องปลูกความจงรักภักดี ความสามัคคีพร้อมเพรียง และความอุตสาหะให้แรงกล้าขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในประจุบันนี้ คือตั้งใจพร้อมกันพิจารณาดูการทั้งปวง ว่าการสิ่งไรซึ่งเป็นไปอยู่ในบัดนี้ควรจะเลิกถอนเสียทีเดียว การสิ่งใดควงจะเปลี่ยนแปลงอย่างเก่าเป็นอย่างใหม่ การสิ่งใดซึ่งยังไม่มีไม่เป็นควรจะตั้งเพิ่มเติมขึ้นเมื่อผู้ใดคิดเห็นพูดขึ้น ต้องพร้อมกันพิจารณาตามโดยความคิดอันละเอียดในทางได้ทางเสียตลอดทุกข้อทุกประการ เมื่อจะสงสัยในความคิดอันใด ผู้ซึ่งเป็นต้นคิดต้องอธิบายตามความคิดเห็นของตัวที่คิดไว้แล้ว ผู้ที่ถามนั้นก็ตั้งใจถามเพื่อจะรู้ความคิดเป็นทางที่จะได้คิดการให้ตลอดไป ฝ่ายผู้ที่เป็นต้นคิดนั้นก็ต้องไม่มีความโกรธ ในการที่มีผู้สงสัยไม่เข้าใจความคิดของตัว หรือความคิดของตัวคิดไว้ไม่ตลอด เมื่อมีผู้ถามแปลกออกไปจากความคิดจะคิดแก้ไขไม่ได้ต่อไป ต้องรับว่าข้อนั้นเป็นผิดอยู่ฝ่ายผู้ที่ถามต้องช่วยคิดแก้ไขต่อไปตามความคิดของตัว ไม่เป็นการแต่ถามสำหรับที่จะดักคอกันเล่นเปล่าๆ เมื่อช่วยกันพิจารณาโดยเต็มกำลังจนถึงช่วยกันเรียบเรียงแก้ไขเป็นข้อบังคับขึ้นได้ แล้วผู้ที่จะรับการนั้นไปทำหน้าที่ ก็ตั้งใจทำการนั้นโดยเต็มกำลังเต็มความคิดที่จะให้เป็นไปได้ตามการที่ตกลง ถ้าเป็นการพร้อมมูลกันทำได้ดังนี้ เหตุใดการจำเริญของบ้านเมืองจะไม่สำเร็จไปเพราะความสามัคคีได้เล่า การซึ่งเป็นเครื่องกีดกั้นความจำเริญของบ้านเมืองอยู่ทุกวันนี้ก็มีสองสามอย่างเท่านั้น อย่างหนึ่งคือถ้าจะจัดการอย่างใหม่ไปถึงจะแลเห็นว่าจะมีผลดีเมื่อภายหน้าและเป็นการเจริญมั่นคงของบ้านเมืองก็จริง แต่เป็นการช้าที่จะสำเร็จไปได้ ส่วนประโยชน์และอำนาจที่ได้อยู่แล้ว จะต้องสละละทิ้งไปเสียก่อน กว่าจะได้รับประโยชน์ใหม่ หรือประโยชน์เก่าได้เหลือเฟือเกินกว่าการที่ทำ ถ้าจัดการใหม่ประโยชน์นั้นก็จะต้องได้พอควรแก่การ ระงับความเสียดายประโยชน์ที่จะต้องขาดไปนั้นไม่ได้ แต่หากมีความกะดากใจ หรืออยากได้ชื่อเสียงว่าเป็นผู้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ก็คิดก็พูดโผงๆไป แล้วก็ลงเรื่องหินหักทิ้งต้นโพนั้นอย่างหนึ่ง ....” การแก้ปัญหาหรือการที่จะทำให้ต้นโพเติบโตต่อไปได้ ซึ่งก็คือความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศนั้นดำเนินจนเป็นจริงได้ บรรดาก้อนหินทั้งทั้งหลายซึ่งก็คือขุนนางและชนชั้นนำทั้งหลายจะต้องรวมตัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่จะทรงเน้นย้ำในตอนท้ายของพระราชนิพนธ์ดังกล่าวนี้ ทรงกล่าวว่า “ความสามัคคี” เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอด