นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่ยังความเศร้าสลดให้กับประชาชนและกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับช้าง 13 ตัวตกลงไปในเหวนรก บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สังเวยชีวิตไป 11 ตัวและรอดมาได้อีก 2 ตัว
ข้อมูลจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ นายครรชิต ศรีนพวรรณ ระบุว่า จากการสำรวจประชากรช้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งแต่ปี 2560 คาดว่ามีช้างป่าประมาณ 300 ตัว หากินกระจายทั่วผืนป่าเขาใหญ่ ทั้งนี้ การหากินของช้างป่า มีปัจจัยของแหล่งน้ำเป็นหลัก ซึ่งข้อสังเกตในการตายของช้างป่าครั้งนี้ อาจมองได้ทั้งเป็นเรื่องของอุบัติเหตุที่ช้างป่าอาจพลัดเข้าไปหากินในพื้นที่บริเวณนั้นพอดีกับช่วงที่เกิดน้ำไหลเชี่ยวแรง ทำให้ช้างพลัดตกจนจมน้ำตาย และอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หากเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปีนี้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้บริเวณที่เกิดเหตุนั้น น้ำในลำธารมีปริมาณมากและไหลเชี่ยว จึงอาจเป็นผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จนเกิดอุบัติเหตุช้างป่าตายครั้งใหญ่อีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 2535
อย่างไรก็ตาม หากติดตามข่าวสารที่ผ่านมาปรากฎข้อเท็จจริงว่า ช้างป่า ถูกคุกคามด้วยการล่า การรบกวนและสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย ในมุมมองของ น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ระบุว่า พวกที่ล่าสัตว์ป่าก็จะใช้เส้นทางเดินของช้างหรือที่เรียกว่า “ด่านช้าง” นี้ในการดักทำร้ายสัตว์ป่า ยิงสัตว์ป่า ในเวลาเดียวกันช้างป่าและสัตว์ป่าก็จะเรียนรู้ไปในตัวเองว่ามนุษย์เป็นอันตราย เจอที่ไหนก็จะพุ่งเข้าทำร้ายมนุษย์ทันที พร้อมกับเสนอแนวทางป้องกันไม่ให้ช้างป่าเกิดเหตุการณ์น้ำตกเหวนรกอีก
ประการแรก ใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วย คือ การทำกำแพงไม้ที่ช้างไม่สามารถเข้าไปถึงจุดที่เป็นน้ำตกได้ อีกทั้งเมื่อถึงช่วงฤดูฝนน้ำตกจะมีเป็นจำนวนมาก แตกกระเซ็นเป็นฝอย และละอองน้ำเต็มไปหมด ทำให้ทั่วบริเวณลื่น หากช้างตกลงไปและยังไม่ตายก็ต้องทนแช่อยู่ในน้ำเย็นที่อุณหภูมิของน้ำ 10 – 18 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิร่างกายของช้าง 37 – 38.5 องศาเซลเซียส สัตว์ป่าก็ต้องทนความหนาวเย็นไม่ไหวจนตาย
ประการที่สอง การป้องกันควรสำรวจแนวหรือเส้นทางที่เป็นเหวนรกหรือจุดที่เปราะบางที่ช้างอาจพลาดตก และเลือกปลูกต้นไม้ธรรมชาติที่คิดว่าเหมาะสมและแข็งแรงทนต่อแรงกระแทกของช้าง ซึ่งมีให้เลือกหลายชนิดในเขาใหญ่ ในความคิดเห็นส่วนตัวที่เคยสัมผัสมาในอดีต ในช้างป่าแต่ละแห่งของไทยต้นไผ่เป็นไม้ธรรมชาติที่เหมาะสมที่สุด ไผ่ตงขนาดลำที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้วขึ้นไป จะมีความสูง 30 – 40 เมตร ปลูกเป็นระยะๆ ความห่างระหว่างกอไผ่ 10 – 20 เมตร ช่องว่างความห่างระหว่างกอไผ่ตงให้ปลูกกอไผ่หนาม ซึ่งเมื่อโตเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 – 10 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร เวลา 3 ปีขึ้นไปกำแพงไผ่ดังกล่าวจะอัดกันแน่นเป็นกำแพงทึบ เพราะต้นไผ่จะแตกหน่อไม้ทุกปี และเจริญออกในแนววงกลมโดยรอบ ถ้าต้องการให้กำแพงหนา 10 เมตร ก็อาจจะปลูกไผ่ 2 แนว ยิ่งเป็นการเพิ่มจำนวนไผ่และความหนาของไผ่เร็วยิ่งขึ้น อันนี้เป็นหลักการในการสร้างกำแพงธรรมชาติป้องกันช้าง กำแพงดังกล่าวอาจยาวได้ถึง 1 – 10 กิโลเมตร ตามแนวป้องกันที่คดเลี้ยวตามธรรมชาติ อย่าไปสร้างแนวป้องกันใหม่ขึ้นมาเพราะจะไปทำลายธรรมชาติโดยไม่จำเป็น
ประการที่สาม ลดกิจกรรมนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวบริเวณน้ำตกเหวนรก ควรกันบริเวณนี้ให้เป็นที่อยู่ของช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เท่านั้น ไม่ควรให้มนุษย์เข้าไปรบกวน ควรให้เป็นที่ส่วนตัวของสัตว์ป่าอาจกำหนดรัศมีจากบริเวณเหวนรกออกไป 3 – 5 กิโลเมตร เป็นอย่างน้อย ผลพลอยได้ที่จะตามมาก็คือ ป่าไม้จะเพิ่มจำนวนขึ้น ภาวะเครียดในสัตว์ป่าลดลงเนื่องจากไม่ต้องระแวงมนุษย์
ประการสุดท้ายก็คือ นักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวเขาใหญ่ควรอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อุทยานโดยใกล้ชิด ถ้าจะเดินท่องเที่ยวชมป่าควรมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้นำทางเนื่องจากเจ้าหน้าที่จะรู้ว่าตรงจุดไหนที่ไม่ควรไป เพราะอาจจะไปรบกวนธรรมชาติหรือพฤติกรรมสัตว์ป่าได้
ดังนั้น ทุกฝ่ายมีส่วนช่วยปกป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับช้างขึ้นอีกในอนาคต และช่วยให้ช้างคงอยู่คู่กับป่าไทย ขณะเดียวกันก็ปรับสมดุลให้คนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้ รวมทั้งช่วยกันต่อต้านการล่าช้างเอางา แสดงพลังไม่ซื้อ และใช้งาช้าง