รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หลักการบริหาร ณ วันนี้ คงไม่อาจหลีกเลี่ยงเรื่องการเปรียบเทียบสรรถนะ (Benchmarking) เพราะเป็นเส้นทางลัดสู่ความเป็นเลิศอย่างก้าวกระโดด ผลที่ได้รับจากการเปรียบเทียบ คือ ทำให้รู้ว่าแนวทางปฏิบัติที่สุด ว่ามีวิธีปฏิบัติอย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุงผลการดำเนินงาน โดยเลือกสรรและนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน ซึ่งไม่ใช่การลอกเลียนแบบแต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆอันเกิดจากการเรียนรู้ เมื่อการศึกษาเปรียบเทียบเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทและองค์กรเอกชนต่างๆ จะมีการนำหลักการเปรียบเทียบสรรถนะมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กร โดยอาจจะกล่าวได้ว่า Benchmarking คือ การเรียนรู้จากผู้ที่เก่งกว่า ประเภทของ Benchmarking สามารถแบ่งได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการ Benchmark กับคู่แข่งขัน ( Competitive Benchmarking ) เป็นการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ บริการ การดำเนินงานและข้อมูลในมติต่างๆ ระหว่างองค์การกับคู่แข่งขันที่มีศักยภาพโดยตรง เพื่อที่ผู้บริหารจะเห็นจุดอ่อนของตน ความแตกต่างในความสามารถและศักยภาพ การ Benchmark ทั่วไป (Generic Benchmarking ) เป็นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเฉพาะ (Specific Benchmarking) เป็นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเฉพาะ(Specific Process ) ที่ใช้กันอย่างทั่วไปในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยกระบวนการต่างๆ อาจดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหลายหน้าที่ การ Benchmark ทั่วไปจะเป็นประโยชน์ในการบริหารและพัฒนากระบวนการต่างของธุรกิจให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ หรือแม้แต่ การทำ Benchmark ภายในองค์กร (Internal Benchmarking) โดยการทำ Benchmark เปรียบ เทียบกันระหว่างหน่วยงานหรือกระบวนการต่างๆ ภายในองค์กร เพื่อทำการศึกษาและวิเคราะห์ ปัญหาเพื่อให้เป็นต้นแบบ (Prototype ) ในการพัฒนาการ Benchmark ในรูปแบบอื่นต่อไป นี่คือ การเปรียบเทียบสรรถนะในมิติเชิงทฤษฎี ซึ่งองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องนำมาประยุกต์ใช้ ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาล ซึ่งจัดเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของรัฐบาลกลายเป็นประเด็นทางการเมือง การเปรียบเทียบผลงานระหว่าง “รัฐบาลประยุทธ์ 1” กับ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” จึงน่าจะเป็นการนำหลักการบริหารองค์กรมาประยุกต์ใช้ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงน้อยที่สุด จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,223 คน ในประเด็น เปรียบเทียบผลงานระหว่าง “รัฐบาลประยุทธ์ 1” กับ “รัฐบาลประยุทธ์ 2”สรุปผลได้ ดังนี้ ประชาชนคิดว่า“รัฐบาลประยุทธ์ 2” มีผลงานอะไร? ที่ดีขึ้น พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 49.11 คือ ความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ มาตรการชิมช้อปใช้รองลงมา ได้แก่ การควบคุมดูแลสถานการณ์ในบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย ร้อยละ 43.78 และมีการลงทุนด้านการคมนาคมและขนส่ง รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ร้อยละ 30.67 ประชาชนคิดว่า“รัฐบาลประยุทธ์ 2” มีผลงานอะไร? ที่แย่ลง พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 67.87 คือ การควบคุมราคาสินค้า ของแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 67.87 รองลงมา ได้แก่ ปัญหาการลักลอบขนยาเสพติด การทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 40.42 และไม่สามารถทำตามนโยบายที่ให้ไว้ตอนหาเสียง เช่น การขึ้นค่าแรง ร้อยละ 22.43 ประชาชนคิดว่า“รัฐบาลประยุทธ์ 2” มีผลงานอะไร? ที่ยังคงเหมือนๆเดิม พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 56.94 คือ ยังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้ ร้อยละ 56.94 รองลงมา ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ร้อยละ 31.61 และการตรวจสอบการทุจริตในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ร้อยละ 28.55 เมื่อเปรียบเทียบในภาพรวมระหว่างผลงาน “รัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง” กับ “รัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่มาจากการรัฐประหาร” เป็นอย่างไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 51.68 คือ เหมือนเดิม ร้อยละ 51.68 เพราะ มาจากคณะทำงานชุดเดียวกัน ไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ แย่ลง ร้อยละ 41.70 เพราะ เศรษฐกิจโลกถดถอย เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ฯลฯ และดีขึ้น ร้อยละ 6.62 เพราะ พยายามกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เร่งดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชน มีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการชิมช้อปใช้ ฯลฯ สิ่งที่ประชาชนอยากให้ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” เร่งดำเนินการ คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ ร้อยละ65.24 คือ การใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รองลงมา ได้แก่ ลดภาษี ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดค่าครองชีพ ร้อยละ 38.56 และแก้ปัญหาความยากจน คนตกงาน ว่างงาน สร้างงาน สร้างรายได้ ร้อยละ35.23 ที่กล่าวมาที่หมดนี้ คือ ความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของ “รัฐบาลประยุทธ์ 1” กับ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และแนวทางการขับเคลื่อนประเทศที่ประชาชนต้องการให้มีการดำเนินการ โดยเป็นการสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า “ปัญหาเศรษฐกิจ” ยังคงเป็นจุดอ่อน...เป็นแผลกลัดหนองของรัฐบาลประยุทธ์แบบยากที่จะปฏิเสธ... แล้วหากรัฐบาลประยุทธ์ ยังรักษาบาดแผลจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้..!! คนที่ต้องเจ็บปวดอยู่กับบาดแผลดังกล่าว คงหนีไม่พ้นประชาชนจริงจริง..!! หรือใครจะกล้าปฏิเสธ!!?