แม้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ผลการประเมินภาคการเงินของไทย โดยคณะผู้ประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ และ ธนาคารโลก ตามโครงการ Financial Sector Assessment Program(FSAP) พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
โดยข้อมูลจากนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. รายงานว่า ผลการประเมินชี้ให้เห็นว่า ระบบการเงิน ไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงสามารถรองรับความผันผวนได้ดี และการกำกับดูแลภาคการเงินของไทยมีประสิทธิภาพสูง เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล โดยผลประเมินที่ ออกมา เทียบเคียงได้กับประเทศชั้นนำ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งจากผลประเมินพบว่าไทยได้ดีมากในด้าน ความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ มีเงินกองทุนและสภาพคล่องสูง มีหลักเกณฑ์การดูแลความมั่นคงและการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพเท่าทันความเสี่ยงต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การประเมินครั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะให้ต้องติดตามความเสี่ยง บางจุด เช่นความเปราะบางในภาคครัวเรือน ไทยที่มีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประเมินสนับสนุนในการออกมาตรการแม็คโครพลูเด็นเชียลเพื่อดูแลไม่ให้ความเปราะบางของหนี้ครัวเรือนขยายจนส่งผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้นระยะถัดไปธปท.จะติดตามและประเมินความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินในลักษณะมองไปข้างหน้า เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในการหารือระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับนายเจมส์ แมคคอร์แม็ค กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายประเมินความเสี่ยง ความน่าเชื่อถือระดับประเทศ และระหว่างประเทศ บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งนั้น ทางฟิทช์ได้สอบถามเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยืนยันว่า ขณะนี้ต้องแยกเป็นหนี้ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ มากถึง 33% อีก 18% เป็นสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ ขณะที่หนี้ส่วนบุคคลมีเพียง 10% และหนี้บัตรเครดิตมีเพียง 3% เท่านั้น
ทั้งนี้นายสมคิด ระบุว่า หนี้อสังหาริมทรัพย์และหนี้ธุรกิจที่มีสัดส่วนมาก ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะถือเป็นสินทรัพย์ เป็นเรื่องที่ควรดีใจ ไม่ใช่เสียใจ และหนี้ภาคธุรกิจถือเป็นสัดส่วนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี และเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะนำหนี้ทั้งหมดมารวมกันแล้วบอกว่า เป็นหนี้ครัวเรือนที่นำไปใช้ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ครัวเรือนย่อมกดดันกำลังซื้อภายในประเทศ ภาระหนี้จากอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการผ่อนชำระหนี้บ้าน ที่อยู่อาศัยสำหรับคนไทยนั้น เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากก่อนหน้านี้ว่าคนไทยแบกภาระหนี้ดอกเบี้ยบ้านแพง
โดยข้อมูลจากผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ไทยรัฐ : วันที่ 19 ก.ค.2561 )ระบุว่า ยกตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยกู้บ้าน โดยเฉลี่ยของเยอรมนี คือ 1% และของสวีเดน 2% ขณะที่ไทยโดยเฉลี่ยคือ 12% ยกเว้นลูกค้า AAA อาจ 4-6% แต่มีเป็นส่วนน้อยในสังคมไทย ดังนั้นหากคนซื้อบ้านในราคา 3 ล้าน ผ่อนระยะ 30 ปี เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้ว ราคาที่ซื้ออาจถึง 7 ล้านบาท ส่วนคนเยอรมนี ซื้อในราคา 3.3 ล้านบาท สำหรับการผ่อน 30 ปีเท่ากัน
ถึงเวลาแล้วที่จะพูดเรื่องดอกเบี้ยบ้าน ที่กลายเป็นดอกเบี้ยบานสำหรับคนไทย ทำฝันของการมีที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัย 4 ไม่ให้กลายเป็นฝันร้าย ลดภาระให้คนไทยมีกำลังใจในการจับจ่าย