เมื่อทุกๆ เรื่องกำลังถูกโยงมาสู่ปัญหาการเมือง โดยหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การกดดันและตั้งคำถามกับ "รัฐบาล" ในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีกับ "12 แกนนำ" ทั้งจาก 7 พรรค ฝ่ายค้าน และนักวิชาการ ที่พากันไปเปิดเวทีสัมมนา แล้วเสนอแนวคิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 1 ว่าเรื่องนี้ มี "ใบสั่ง"จากคนในรัฐบาลให้ใช้ "กฎหมาย"มา "ปิดปาก" ฝ่ายค้านจนมาล่าสุดมีความพยายามของพรรคฝ่ายค้านเองที่กำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่า ในฐานะ "ฝ่ายนิติบัญญัติ" จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวของ "ฝ่ายตุลาการ" นั้นสมควรหรือไม่ จะเป็นการก้าวล่วงอย่างจงใจหรือต้องการทำความจริงให้ปรากฏจากกรณีที่ผู้พิพากษาจังหวัดยะลาใช้อาวุธปืนพกสั้นก่อเหตุพยายามฆ่าตัวตายในศาล ล่าสุดอาการปลอดภัยราวปาฏิหาริย์ เพราะ "จิรายุ ห่วงทรัพย์"ประธานกรรมาธิการองค์กรศาลองค์กรอิสระ องค์กรอัยการฯสภาผู้แทนราษฎรออกมาให้ข่าวว่าเตรียมเสนอวาระในการประชุมกรรมาธิการในการประชุมวันที่ 17 ต.ค.นี้เพื่อพิจารณาแก้ไขพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเรื่องห้ามมิให้ตรวจร่างก่อนอ่านคำพิพากษา ขณะที่ "ปิยบุตร แสงกนกกุล"ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ ประธานกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ออกมาให้ข่าวว่า จะนำเอกสารและข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ ผู้พิพากษายะลา ไปหารือกับคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ โดยเชื่อในเบื้องต้นว่าข้อร้องเรียนของผู้พิพากษาคนนี้มีมูล นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะไปหารือกับคณะกรรมาธิการยุติธรรมเพื่อพิจารณา "ข้อร้องเรียน" ตามที่ปิยบุตร เองได้รับมาในหลายกรณีทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมายพิเศษ น่าสนใจว่า การที่ 2 พรรคฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ที่ต่างพากันกระโดดเข้า "ฮุบเหยื่อ" นำประเด็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรม มาตรวจสอบนัยว่า ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมและองค์กรตุลาการไทยเป็นที่พึงพิงของประชาชนได้อย่างแท้จริง นั้นจะเกิดความย้อนแย้งและกลายเป็นการ "เพิ่มปัญหาใหม่" ให้ตามมาหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า จากข่าววันแรกที่ผู้พิพากษายะลา ใช้ปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี ก็เป็นปิยบุตรที่ออกมากระโดดรับลูก เสมือนทุกอย่าง "เข้าทาง" รวมทั้งยังออกมาบอกตั้งแต่แรกๆด้วยว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้พิพากษามาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งปิยบุตร ยังนำเอาเอกสารแถลงการณ์ของผู้พิพากษามาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กในทำนองชื่นชมการกระทำ แต่เมื่อมีคนเริ่มติดตามและตั้งข้อสงสัยความเชื่อมโยงระหว่าง ผู้พิพากษากับพรรคอนาคตใหม่ จึงทำให้ปิยบุตร ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่าข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดนั้นมาจากตัวผู้พิพากษา และ "ผู้หวังดี"ที่ส่งมาให้ตั้งแต่เดือน ก.ย. ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ กำลังคิดที่จะเปิดแนวรบใหม่ ด้วยการใช้กลไกทางฝ่ายนิติบัญญัติ เข้าไปตรวจสอบ ถึงเสาที่สามอย่าง "กระบวนการยุติธรรม" นั้นได้หวังผลเอาไว้หรือไม่ว่าผลลัพธ์จะเกิดอะไรขึ้นตามมา โดยเฉพาะเมื่อกรณีผู้พิพากษายะลาพยายามยิงตัวตายในห้องพิจารณาคดี กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้คณะกรรมการ ตุลาการ(ก.ต.) รับทราบภายใน15 วัน จะไม่ยิ่งกลายเป็น "ลบ" เป็น"โทษ" แก่ผู้พิพากษายะลา มากกว่าที่จะเกิดผลในทาง "บวก" หรือไม่ !?