แสงไทย เค้าภูไทย โครงการ “ชิมช้อปใช้” เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายภายในประเทศกลายเป็นอัฐยายซื้อขนมยาย แทนที่เงินจะไปกระตุ้นหมุนเวียนในระบบ กลับกลายเป็นว่ารัฐหว่านเงินไปเข้ากระเป๋านายทุนโมเดิร์นเทรดผ่านมือประชาชนเสียกว่า 80% “ชิมช้อปใช้” เป็น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “กระตุ้นให้มีการกิน “ชิม" มีการซื้อ “ช้อป" และจ่าย “ใช้" เพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยรัฐบาลจ่ายเงินผ่านระบบดิจิตอลให้ “คนจน” ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 ล้านคน ลงทะเบียนรับสิทธิ รับเงินคนละ 1,000 บาทผ่านแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" (G-Wallet) ได้ทางเว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการคือ ผู้มีสัญชาติไทย(ตามบัตรประจำตัวประชาชน) อายุ 18 ปีขึ้นไป จำกัดสิทธิ์ลงทะเบียน 10 ล้านคนเท่านั้น การลงทะเบียนจะเริ่มตั้งแต่ 23 ก.ย. ไปสิ้นสุด 15 พ.ย. รวม 54 วัน วันละ 1 ล้านคน คนละ 1,000 บาท นั่นหมายถึงวันหนึ่งๆรัฐต้องจ่าย 1,000 ล้านบาท 54 วันเป็นเงิน 54,000 ล้านบาท สถานที่ใช้จ่าย จะต้องเป็นร้านค้าหรือสถานบริการที่ กำหนด โดยส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรด เช่นห้างสรรพสินค้าโลตัส เซ็นทรัล เซเว่น อีเลฟเว่น ฯลฯ โดยเฉพาะ เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีอยู่แทบทุกหัวระแหงนั้น ถึงกับเปิดร้านใหม่ 100 สาขารองรับการช้อปครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ จึงไม่แปลกที่จะพบภาพผู้ถือสิทธิ์ช้อป 1,000 บาทเข็นรถช้อปปิ้งไปต่อคิวยาวเหยียด ตั้งแต่หน้าเคาน์เตอร์คิดเงินทะลุทางเดินระหว่างชั้นวางสินค้าไปจรดผนังฝั่งตรงกันข้าม เงิน 1,000 บาทของแต่ละคน กว่า 80% ไปใช้กันในห้าง ในร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการสวัสดิการประชารัฐ ร้านค้าปลีกชาวบ้าน ร้านค้าปลีกเคลื่อนที่ “โมไบล์ช้อป” หรือ “รถ(ร้าน)พุ่มพวง” ที่ดัดแปลงรถกะบะเป็นร้านกรงตาข่าย แขวน “พุ่มพวง” ถุงใส่สินค้า ระย้า ยั้๊วเยี้ย รอบคันและในกะบะ ไม่มีส่วนจากโครงการนี้ การที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการอยู่แต่ในเมือง ในชุมชน ทำให้เงินที่รัฐแจกมาวันละ 1,000 ล้านบาท กระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง เป้าหมายที่ต้องการเพิ่มกำลังซื้อและเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศอันเป็นตัวเลขที่ไปเพิ่มในผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ที่สำคัญ 1 ใน 3 ตัวหลักกลายเป็น “อัฐยาย ซื้อขนมยาย” คือรัฐจ่ายไป แล้วมันก็วกกลับมา ในรูปของมูลค่าจีดีพีที่เพิ่มขึ้น เป็นตัวเลขพิ่มขึ้นแบบจำแลง เพราะไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายตามธรรมชาติ ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกดีมานด์-ซัพพลาย เงิน 54,000 ล้านบาท หากเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระจายไปตามชนบท ไปซื้อสินค้าเกษตร ปัจจัยสี่ สินค้าโอท็อป สินค้าเอสเอ็มอี หรือแม้แต่อาหารริมทางหรือ “ street foods” ที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ เงินก็จะหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจฐานราก อย่างต่ำก็ 3 รอบ คือจากมือผู้บริโภค สู่ผู้ขาย จากผู้ขายสู่ผู้ค้าวัตถุดิบในการประกอบอาหาร สู่แรงานรับจ้าง สู่ผู้ให้เช่าสถานที่/แผง ฯลฯ กว่าจะกลับระบบการเงินเอกชนและรัฐ ก็เพิ่มมูลค่า ( value added) เป็น 2-3-4 เท่าตัวของเงินตั้งต้น 1,000 บาท ทั้งหมด 54,000 ล้านบาท ก็น่าจะหมุนได้เป็น 162,000-216,000 ล้านบาท แต่เท่าที่เป็นอยู่นี้ กว่า 80% ของเงินหว่านครั้งนี้ ถูกดูดเข้าไปสู่กระเป๋าเจ้าสัว ผู้เป็นเจ้าของห้างและร้านค้าเชนสโตร์ ที่เหลือ เป็นของร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการสวัสดิการประชารัฐ แม้แต่ประชาชนเองก็มองเห็นและไม่เห็นด้วยกับวิธีหว่านเงินแบบนีั ทั้งนี้เป็นผลสรุปจากโพลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อโครงการรัฐบาล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ชิมช้อปใช้...ถูกใจหรือไม่” ระหว่างวันที่ 2 – 4 ตุลาคม ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.37 ระบุว่าจะไม่ลงทะเบียน เพราะระบบและขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ส่วนแผนการใช้จ่ายของผู้ที่ได้ลงทะเบียนแล้ว และกำลังจะลงทะเบียน พบว่า ร้อยละ 41.52 ได้ใช้ และมีแผนใช้จ่ายที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์สโตร์ รองลงมา ร้อยละ 34.10 ใช้ตามร้านค้าทั่วไปที่เข้าโครงการ ร้อยละ 16.57 ใช้กับร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 15.24 ใช้ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ นี่คือเส้นทางของเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของการใช้จ่ายในประเทศ( Domestic Expenditure) ผ่านมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ด้านความคิดเห็นต่อโครงการนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.36 ระบุว่า เปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง สูสีกับร้อยละ 27.28 มองว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี ขณะที่บางส่วนบอกว่า พ่อค้า นายทุน ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด