แม้สถานการณ์การเมืองจะเขม็งเกลียว การประลองกำลังของ 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐ และฝ่ายตรงข้าม จากประเด็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ลุกลามจากเวทีเสวนาที่สัญจรไปในพื้นที่ภาคใต้ของ 7 พรรคฝ่ายค้าน นำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีและแจ้งความกลับ ในขณะที่รัฐบาลกำลังก้าวเข้าสู่ “สนามรบในสภาฯ” อีกคำรบ ในศึกพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ส่วนด้านเศรษฐกิจรัฐบาลก็ลุ้นแผนกระตุ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี จากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้”เฟส 2 มาตรการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทยและเที่ยวันธรรมดาราคาช็อกโลก แต่ในบรรดาข่าวสารต่างๆ นั้น มีข่าวเล็กๆที่น่าสนใจปรากฎขึ้น โดยเป็นข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” นำคณะผู้บริหารร่วมประชาสัมพันธ์งาน “ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2019” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคมนี้ที่ ไบเทค บางนา แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงเช้าวันนี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชมเชยว่า ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง เป็นงานที่นำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ดี แต่อยากให้พิจารณาควบคู่กับการเชื่อมโยงถึงโครงการสำคัญของรัฐบาล ทั้งในส่วนของระบบสาธารณสุข ดูเรื่องเหตุฉุกเฉิน เพิ่มผลผลิตทางเกษตร ตรวจสอบสภาพป่า เตือนภัยพิบัติ ต้องใช้ให้ได้จริง ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ พร้อมย้ำให้ดูเรื่องกฎหมายควบคู่ และให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง นายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่า ให้หามาตรการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อให้เรียนได้ ใช้เป็น ทั้งโค้ดดิ้ง เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ฯลฯ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์ โดยมองว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเด็กสนใจอยู่แล้ว แต่ยังขาดโอกาส ต้องหาทางว่าจะดึงเด็กกลุ่มนี้เข้ามาได้อย่างไร “ขอเสนอให้จัดหลักสูตรระยะสั้น ต่อยอดให้กับเด็กมหาวิทยาลัยที่จะขึ้นชั้นปี 3 และ 4 เพื่อออกมาทำงานตอบสนองตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการเรียน ไม่ต้องรอให้เด็กจบปี 4 แล้วออกมาทำงาน อาจจะนานเกินไป เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนากำลังคน และเพิ่มเงินให้กับบีโอไอ เพื่อส่งเสริมการลงทุนทางด้านดิจิทัลแล้ว ซี่งสามารถดำเนินการได้ทันที” เราเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย ออกมาสู่ระบบการทำงานเพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน ของพล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องนี้ โดยในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม องค์กรมหาชน และภาคเอกชนต่างๆที่เกี่ยวข้อง นำไปประยุกต์ใช้ในแรงงานสาขาอื่นๆด้วย และหากเป็นไปได้ อาจไม่ต้องรอให้เยาวชนเหล่านั้น เข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หลักสูตรต่างๆ อาจเตรียมความพร้อมให้กับเด็กตั้งแต่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และควรมีการปรับปรุง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอยู่เสมอ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการว่างงานเมื่อผลิตบัณฑิตออกมาไม่ตรงตามสาขาที่ตลาดต้องการ