ดูเหมือนบรรยากาศการเมืองไทย เมื่อเข้าสู่ห้วงเดือนตุลาคมจะอึมครึม และเขม็งเกลียวขึ้นเป็นลำดับ คล้ายพายุใหญ่กำลังตั้งเค้า เริ่มต้นจากเวทีเสวนารณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 7พรรคฝ่ายค้านยาตราทัพไปภาคใต้ ที่จ.ปัตตานี มีแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านไปร่วมอย่างพร้อมเรียง ประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ทว่าในการเสวนามีนักวิชาการเข้าร่วมด้วย และกลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขัปัญหาชายแดนใต้ ว่า ต้องการรัฐที่มีความแยกย่อย ยืดหยุ่น มีการใช้อำนาจอธิปไตยที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ สามารถจินตนาการถึงการเมืองประเภทต่างๆ ได้ เช่น ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ รวมทั้งพาดพิงพไปถึงมาตราที่ 1 ด้วย ซึ่งทำให้เกิดกระวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ส่งผลให้กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความจับ 12 แกนนำพรรคฝ่ายค้าน และนักวิชาการ ตามมาตรา 116 เหตุจัดเสวนาบิดเบือนข้อเท็จจริง ยุยงประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง หวั่นก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร ทำให้มีการตอบโต้จากนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จะใช้อำนาจในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิ มนุษยชน เตรียมเรียก พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เข้ามาชี้แจงกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนนายทหารคสช.แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลจำนวนมาก และล่าสุดแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เดืนทางที่กองบังคับการปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 พล.ต.บุรินทร์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ทำให้ได้รับความเสียหาย กลั่นแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามความผิดกฎหมายอาญา อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้ง และหมิ่นเหม่ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้านี้ เป็นช่วงจังหวะเวลาที่เป็นช่วงครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์6 ตุลา 2519 พอดี ในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา2519ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาไว้น่าสนใจ โดยสรุปบทเรียนไว้ 6 ประเด็น ความว่า 1.ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน 2.จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน แต่อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อ 3. ฝันให้ยิ่งใหญ่แต่เดินไปทีละก้าว อย่าโบยตีตัวเองจนหม่นหมองในความทุกข์ ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ถ้าเหนื่อยก็พัก 4. ไม่ว่าอะไรจะพลิกผันความฝันก็ยังคงง่ายเหมือนเดิม คือเพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง 5.สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่งที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น 6. พรุ่งนี้หรือชาติหน้าไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน วันนี้จึงควรอยู่อย่างมีสติและอยู่อย่างราวกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ของชีวิต เพื่อวินาทีที่เราจะจากไป จะได้บอกกับตัวเองได้ว่าฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฝันแล้ว เราเห็นว่าผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรหยิบยกบทเรียนในเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาศึกษาและหาวิธีไม่ให้หวนเดินย่ำซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยโศกนาฎกรรมและฝันร้ายที่ไม่มีวันลืมเลือน หากไม่เพียงจ้องแต่มุ่งเอาชนะหรือฉวยจุดไฟแบ่งแยกมวลชน