ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ จากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม/หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหน้า หรือ คปต. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เมืองต้นแบบการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งรัดให้ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามโรดแม็พของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด และอยากจะเห็นพื้นที่ซึ่งเป็นจุดก่อตั้งโครงการจริง โดยเฉพาะ “โครงการก่อสร้างระเบียงกระจกชมทะเลหมอก” หรือ “สกายวอล์ค” ที่ยาวที่สุดในโลก ที่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ กำลังเป็นกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่ทำให้ทราบว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นโครงการเฉพาะกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เท่านั้น หากทว่าเป็นโครงการที่มีการขบคิดวางแผนมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2557 ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง กับ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ เขต 13 นราธิวาส ตั้งแต่มีการสำรวจพื้นที่จัดทำจุดชมวิวทะเลหมอก เพื่อของบประมาณจากกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงินงบประมาณ 5 ล้านในปีงบประมาณ 2558 ผ่าน สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา แรกเริ่ม มีความคิดจัดทำเป็น “มหา ’ลัยป่า” โดย อบต.ตำบลอัยเยอร์เวง ซึ่งมีโครงการอบรมเยาวชนอนุรักษ์ป่าฮาลาต่อเนื่องทุกปีบริเวณปากคลองฮาลา ด้วยการนำเยาวชนจากทุกหมู่บ้านในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ไปอบรมเข้าค่ายเรียนรู้ธรรมชาติของป่าฮาลา-บาลา เรียนรู้การเขียน การถ่ายภาพ การสื่อสารเล่าเรื่องสู่สังคมภายนอก และศิลปะการวาดรูป เพื่อให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการหวงแหนและอนุรักษ์ป่า เติบเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องป่าของชุมชน ในขณะที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส โดย “บุญเสริม พรมเสนะ” ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ ก็มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ป่าไม้” ให้คงอยู่คู่ชุมชนไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ระดับบริหารของทั้ง 2 องค์กรต่างมีความคิดตรงกันว่า การที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาป่าได้นั้น เขาต้องมีความรู้ก่อน เมื่อมีความรู้แล้วก็จะรัก เมื่อรักแล้วจะหวงแหน เมื่อหวงแหนเขาก็จะเข้ามามีส่วนร่วมกับทางราชการในการปกป้องรักษาป่า แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หรือตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่มีกำลังน้อยนิด แถมไม่สามารถการันตีได้ว่า จะสามารถยืดหยัดต่อสู้กับนายทุนหรือชาวบ้านที่รุกป่าเพื่อที่ทำกิน โดยเฉพาะการรุกป่าเพื่อแปลงป่ามาเป็นสวนยางพาราและสวนทุเรียนได้ กลยุทธ์ที่สำคัญ คือ การทำให้ “พื้นที่ปิด” กลายเป็น “พื้นที่เปิด” ทำให้ที่ “มืด” กลายเป็น “แสงสว่าง” ให้ได้ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ จึงเป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ดังนั้น “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” คือการตอบโจทย์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะสถิติของ อบต.ตำบลอัยเยอร์เวง ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมทะเลหมอกทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 240,000 คน ทำเงินเข้าถึงมือประชาชนโดยตรงกว่า 20 ล้านบาท หลังจากเปิดจุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวงในเดือนเมษายน 2559 มีธุรกิจใหม่ๆ ของชาวบ้านเกิดขึ้นหลายกิจกรรม ทั้งธุรกิจที่พักโฮมสเตย์มากกว่า 14 ราย ธุรกิจล่องแก่งคายักมากกว่า 7 ราย ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว เกิดปรากฏการณ์คนหนุ่มสาวออกมาโพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านไลน์ แทบทุกวัน ความรู้สึกภูมิใจในความสวยงามและสมบูรณ์ของธรรมชาติที่งดงาม เป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมในวงกว้าง เท่ากับว่ากลยุทธ์ในการดำเนินการขั้นแรก ในการชูการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ชาวบ้านรู้สึกรัก รู้สึกเป็นเจ้าของ รู้สึกตระหนักในความสำคัญของธรรมชาติที่สวยงาม ทำให้ชุมชนของตนเองเป็นที่รู้จักในแง่มุมที่ดี แทนที่จะเป็นพื้นที่น่ากลัวเหมือนเมื่อเอ่ยถึงเช่นครั้งอดีต หลังจากนั้น ปลายปี พ.ศ.2559 กลยุทธ์ต่อไปที่จะทำให้พื้นที่ได้รับการกล่าวถึงและเพิ่มแสงสว่างมากยิ่งขึ้น คือการนำนวัตกรรมเข้ามาเพื่อสร้างจุดสนใจให้ส่วนราชการส่วนกลาง นักท่องเที่ยว และผู้คน สนใจมากยิ่งขึ้น สอดแทรกการวางแผนเพื่อนำองค์ความรู้เรื่องธรรมชาติและความสำคัญของป่า เข้ามาเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ ทำกันในลักษณะคู่ขนาน เป็นการจับมือกันทำงานแบบ “นอกกรอบ” ระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับหน่วยงานของกรมป่าไม้ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ใดๆ มาก่อน เนื่องเพราะเคมีไม่ตรงกัน หรือเพราะการปฏิบัติภารกิจไม่สอดรับกัน ระหว่างแนวทางการพัฒนาของ อปท. กับการป้องกันรักษาป่า อีกฝ่ายทำเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน กับอีกฝ่ายทำเพื่อปกป้องรักษาป่าของชาติด้วยกฎหมาย การก่อเกิด “โครงการก่อสร้างสกายวอล์ค” หรือ “ระเบียงชมหมอก” เป็นความร่วมมือในฝีมือการเขียนโครงการของ บุญเสริม พรมเสนะ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส กรมป่าไม้ กับ อารี หนูชุสุข ปลัดองค์การบริหารส่วนตำลอัยเยอร์เวง ตามมาตา 19 ในการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ จึงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการพัฒนาร่วม เพื่อสร้างความสุขแก่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นนวัตกรรมในการใช้ทรัพยากรของชาติที่คุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะแผนแม่บทที่วางพื้นที่จุดชมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งทำให้เยาวชนคนที่สนใจป่าได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติป่าฮาลาอย่างลึกซึ้ง โดยไม่จำเป็นต้องไปบุกรุกเข้าป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ที่หายาก เป็นเวทีให้นักศึกษา นักวิจัย ได้สืบค้นข้อมูลงานวิจัยที่ครอบคลุม และปฐมบทการเรียนรู้คุณค่าของป่า ของชุมชน ของคนเมือง และนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์รุ่นใหม่ๆ ได้มีองค์ความรู้ ตระหนักถึงความสำคัญในการลุกขึ้นมาปกป้องรักษาป่าที่เหลืออยู่ให้คงอยู่สืบไป ทั้งนี้ต้องขอชื่นชม บุญเสริม พรมเสนะ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส กรมป่าไม้ และ องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง ที่กล้าฉีกกฎของการปกป้องรักษาป่าด้วย “ปืน” ด้วย “กฎเหล็ก” มาเป็นการเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ “เป็นพวกเดียวกัน” ไม่เกิดความแปลกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ในการสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องรักษาผืนป่า เป็นการตั้งโจทย์แบบเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเอาป่าเป็น “เป้าหมายร่วม” ในการปกป้องรักษา ให้การท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ต้องไปด้วยกันได้ และให้รัฐปรับตัวเพื่อร่วมกับท้องถิ่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เรียกได้ว่าเป็น “นวัตกรรมใหม่ของมหา ’ลัยป่า” แทนที่จะต่างคนต่างทำ ต่างหน่วยงานต่างวิถีต่างวิธีคิด เช่นในอดีตที่ผ่านมา