ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สรุปว่า 10 วันแรกของการเปิดให้ลงทะเบียน มาตรการ "ชิมช้อปใช้” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น มีผู้มาลงทะเบียนเต็มโควตาวันละ 1 ล้านคนทุกวัน ในจำนวนนี้มีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านวันละประมาณ 2 แสนคน จึงทำให้ประชาชนยังลงทะเบียนได้อีกประมาณ 2 ล้านคน โดยจะเปิดลงทะเบียนต่อเนื่องตามปกติวันละ 1 ล้านคนจนกว่าจะครบตามกำหนดหรือจนกว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนผ่านจนครบ 10 ล้านคน
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่า จะมีผู้ใช้เงินจากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน คนละ 13,500 บาท ส่งผลทำให้มีเงินเข้าสู่เศรษฐกิจของประเทศประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หลังจากประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 แล้วพบว่าเติบโตไม่ต่างจากสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 2 จึงพยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ให้กลับมาดีขึ้น ด้วยชุดมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เนื่องจากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน จึงได้สั่งให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปประเมินผลมาตรการที่ออกมา และพิจารณาล่วงหน้าว่าหากมีเฟส 2 ออกมาจะต้องขยายผลให้ครอบคุลมฐานรากอย่างกว้างขวางได้อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีหรือไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่น หากมีมาตรการออกมากระตุ้นในช่วงนี้จะส่งผลให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยนายสมคิดย้ำว่า การออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการดูแลเศรษฐกิจในประเทศเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี
พร้อมกันนี้ ต้องการให้ใช้ชิมช้อปใช้เฟสต่อไปครอบคลุมถึงเศรษฐกิจฐานราก โดยจะต้องมีร้านค้าเข้ามาร่วมมาตรการเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งได้ให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปดูร้านค้าในชุมชนทั่วประเทศ เนื่องจากธนาคารทั้ง 2 แห่ง มีร้านค้าที่เป็นลูกค้าธนาคารอยู่แล้วเกือบ 1 แสนราย โดยให้ไปชักชวนให้ร้านค้าชุมชนเข้ามาในโครงข่าย ซึ่งจะส่งผลดีไปถึงโครงการที่รัฐพยายามผลักดันในอนาคต อย่างเช่น โครงการประชารัฐสร้างไทย
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็พยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเน้นเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจ ที่มีมาตรการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทยออกมาเชื่อมต่อระบบกับชิมช้อปใช้ โดยจะเป็นประโยชน์ต่อเนื่องในไตรมาส 4 ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามให้เกิดโครงการประชารัฐสร้างไทย เชื่อว่าหากทำได้จะผลักดันให้ประเทศไทยมีอนาคต อย่างไรก็ดี โครงการนี้อยู่ระหว่างเตรียมการสู่ภูมิภาค โดยจะเริ่มทำที่ภาคเหนือก่อน
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีความจำเป็นอยู่มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตการดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เพื่อประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจเท่านั้น แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ข้อมูลในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน 10 ล้านคน จะเป็นข้อมูลที่มีค่าซึ่งสามารถนำไปประเมินและสรุปผลสำหรับมาตรการต่างๆที่จะออกมาในอนาคต
ขณะที่ประชาชนกว่า 10 ล้านคนที่โหลดแอพลิเคชั่นเป๋าตังในโทรศัพท์มือถือ รัฐบาลสามารถนำไปต่อยอดจากแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการสร้างรายได้กลับเข้าสู่รัฐบาลต่อไป และที่สำคัญนี่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เป็นให้เป็นสังคมไร้เงินสดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ฉะนั้น มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” จึงไม่ใช่แค่มาตรการตำน้ำพริก ละลายแม่น้ำ