นับว่าเป็นข่าวดีที่สำหรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกยศ. ที่ตัวเลขปีงบประมาณ 2562 (1 ตุลาคม 2561-30 กันยายน 2562) ปรากฎว่ากองทุน ได้รับชำระหนี้แล้ว 31,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า ปีที่ผ่านมา 20% สูงสุดในประวัติการณ์การรับชำระหนี้ ซึ่งเป็นผลดีทั้งในแง่ของงบประมาณ ที่กองทุนนี้จะมีความยั่งยืนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนในรุ่นต่อไป และในเชิงจิตวิทยาสังคมที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการชำระหนี้คืนมากขึ้น
แม้ปัจจัยหลักที่ทำให้กองทุนมีผลการรับชำระหนี้ ดีขึ้นมากนั้น จะมาจากการเริ่มมาตราการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมเพื่อชำระหนี้ผ่านองค์กรนายจ้าง ภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ส่วนราชการที่อยู่ในระบบ จ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เป็นปีแรก และมาตรการชั่วคราวที่จูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระหนี้ปิดบัญชีโดยลดเบี้ยปรับ 85% สำหรับ ผู้กู้ยืมที่ ค้างชำระหนี้ ซึ่งมีผู้กู้ยืมเข้าร่วมมาตรการมากกว่า 40,000 รายก็ตาม
ทั้งนี้ข้อมูลของกยศ. ระบุว่าการให้กู้ยืมปีการศึกษา 2562 เป็น ปีแรกที่กองทุนไม่ได้จำกัดโควตาการกู้ยืมสำหรับ ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีผู้ได้กู้ยืมแล้ว 534,704 ราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 26,180 ล้านบาท ทั้งนี้ การให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2562 ยังไม่เสร็จสิ้น และในปีการศึกษา 2563 กองทุนจะ เพิ่มค่าครองชีพให้กับผู้กู้ยืมทุกระดับอีกรายละ 600 บาทต่อเดือน
ปัจจุบัน กองทุนได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้ว 5,648,857 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 607,491 ล้านบาท ประกอบด้วยผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 838,521 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,107,161 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,645,349 รายและผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 57,826 ราย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ การเปิดบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง พบว่ายังมีบางคนกู้ยืมเงินจากกองทุนกยศ. และยังไม่ได้ปิดบัญชี โดยในจำนวนนั้น มีสถานะของทรัพย์สินที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปิดบัญชีได้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แม้จะจบลงด้วยดีเมื่อนักการเมืองรับปากจะปิดบัญชีหนี้กยศ.โดยเร็วที่สุด
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนกยศ. แบ่งคน ไม่ยอมจ่ายหนี้คืน กยศ.แบ่งได้ 3 ประเภท คือ กลุ่มที่ 1.นักเรียนนักศึกษาที่ยากจนจริงๆ เมื่อจบการศึกษาไปแล้วยังไม่มีงานทำ หรือ ไปทำงานอยู่ในภาคเกษตรแต่อาจประสบปัญหาสภาพคล่องด้านเงินทุนและเป็นหนี้ภาคเกษตรจึงไม่อาจชำระหนี้ได้ นักเรียนนักศึกษาประเภทนี้จำนวนน้อยมากๆ
กลุ่มที่ 2 "ขาดจิตสำนึก" แม้มีงานทำและมีรายได้แต่ไม่ยอมจ่ายหนี้คืน กยศ.
และ กลุ่มที่ 3 "ขาดวินัยการเงิน" หลังจากเรียนจบและมีงานทำแล้ว แต่ไม่ยอมใช้หนี้คืน กยศ. เพราะขาดวินัยทางการเงิน กล่าวคือ เมื่อทำงานมีรายได้ จะไปก่อหนี้ก่อน เช่น ซื้อรถยนต์ จ่ายบัตรเครดิต จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เหลือจึงนำเงินมาใช้จ่ายทั่วไปที่จำเป็น หรือ เก็บออม จนในที่สุดไม่มีเงินเหลือพอชำระหนี้ กยศ. ซึ่งวินัยการเงินที่แท้จริง คือ เมื่อมีรายได้จะต้องชำระหนี้ก่อนเป็นอันดับแรก และเก็บเป็นเงินออมไว้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือจึงนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่จำเป็น
ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ริเริ่มตั้งกองทุนกยศ. ล่าสุดได้ออกกฎห้ามคนไม่ชำระหนี้กองทุนกยศ. เป็นข้าราชการรัฐสภา และห้ามเรียนหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ข้าราชการทุกคนเป็นตัวอย่างในสังคม เพราะกยศ.ในสมัยรัฐบาลของตนมีจุดประสงค์ที่ต้องการช่วยเด็กทั้งประเทศ
“เป้าหมายของกองทุนไม่ได้ต้องการสร้างคนที่มีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างคนดีด้วย คนไม่มีความรู้โกงบ้านเมืองก็โกงได้ไม่เท่าไหร่ แต่คนที่มีความรู้แล้วโกงบ้านเมืองนั้นจะสามารถโกงได้จำนวนมหาศาล”
อาจกล่าวได้ว่า การชำระหนี้ตามเวลานอกจากจะเป็นวินัยทางการเงินแล้ว ยังเป็นมาตรวัดทางจริยธรรม ความซื่อสัตย์ด้วยประการหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่จะเข้าสู่ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินหรือศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะนักการเมืองแม้จะไม่เบี้ยวหนี้แต่หาเร่งปิดบัญชีก่อนลงสู่สนามเลือกตั้งได้ก่อนก็จักสง่างามยิ่ง