ความพยายามของ "7 พรรคฝ่ายค้าน" ที่ต้องการกดดัน "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างต่อเนื่อง บนความหวังที่ว่าทั้งศึกในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ที่สลับฉากกันเล่นกับการเคลื่อนไหวเดินสายปลุกระดมประชาชนในต่างจังหวัดให้ลุกขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์รอบด้าน จะไม่เป็นใจสำหรับฝ่ายค้านนัก เพราะหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ การเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆเพื่อปลุกให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ กลับต้องเจอกับ "สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่" ในพื้นที่กว่า 30 จังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อุบลราชธานี จนทำให้ "7พรรคฝ่ายค้าน" ต้องปรับโหมดวางเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วพากันลงพื้นที่ลุยน้ำท่วมเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน กันแทบไม่ทัน มาถึงวันนี้ เมื่อสภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ประจำปี2563 ในระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. นี่จึงถือเป็น "โอกาส" ของพรรคฝ่ายค้านที่จะใช้เวทีสภาฯ "ชำแหละ" ทั้งการจัดสรรงบประมาณไปจนถึงการแปรเปลี่ยนไปสู่เวทีของการอภิปรายไม่ไว้วางใจกันกลายๆ แม้พรรคฝ่ายค้านเองจะรู้ดีว่า เป็นเรื่องยากที่จะ "ล้มรัฐบาล" ลง ก็ตามแต่อย่างน้อยที่สุด การยิงหมัดตรงให้ถี่และหนักหน่วง แม้รัฐบาลและตัวบิ๊กตู่ ไม่ถึงกับ "ร่วง" แต่ก็บอบช้ำ ยืนอยู่ด้วยความยากลำบาก ให้มากที่สุด อย่างไรก็ดีเมื่อมองกลับมายัง ฟากรัฐบาลเองก็กำลังเจอกับ "รอยร้าว" ที่ไม่ควรต้องเกิด เพราะเมื่อ ในสนามเลือกตั้งซ่อม เขต5 นครปฐม ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างส่ง "ผู้สมัคร" ลงชิงเก้าอี้ด้วยกันทั้ง 2 พรรค จนทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า ถ้าเช่นนั้น "พรรคพลังประชารัฐ" จะเลือกสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคไหน ยิ่งเมื่อทั้งชาติไทยพัฒนาและประชาธิปัตย์ ต่างเป็น "พรรคร่วมรัฐบาล"ด้วยกันทั้งคู่ ! การเคลื่อนไหวของ "7พรรคฝ่ายค้าน" กำลังจะถึงห้วงที่ต้องหันกลับไป "ถล่ม" รัฐบาลในเวทีสภาฯ เมื่อการประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ เปิดขึ้น ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ โดยการกลับหลังหัน มาสู่บทบาท "มือตรวจสอบ" รัฐบาล ในงบประมาณ 63 ที่ถูกจัดสรรลงไปยังกระทรวงต่างๆ นั้นมีความเหมาะสม เกิดประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ? ปฏิบัติการรุกไล่รัฐบาล และ ตัวพล.อ.ประยุทธ์ จากพรรคฝ่ายค้าน กำลังนับถอยหลังที่จะเปิดฉากขึ้นในเวทีสภาฯ อีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า ด้วยเชื่อว่าแม้จะไม่สามารถ "ล้ม" ลงได้ ก็ขอให้ทำให้ "บอบช้ำ" มากที่สุด เพราะหากเปิดทางให้ รัฐบาลดำรงอยู่ด้วยความแข็งแกร่ง โดยที่ ฝ่ายค้านไม่ "ออกแรง" ทำอย่างใด อย่างหนึ่ง ที่สุดแล้วจะยิ่งกลายเป็นว่า พรรคฝ่ายค้านอาจจะเป็นฝ่าย "ถูกบีบ" โดนต้อนให้จนมุมเสียเอง ความเข้มข้นของการเปิดเกมถล่มรัฐบาลในเวทีสภาฯ ในการประชุมสมัยวิสามัญ ครั้งนี้สำหรับฝ่ายค้านนั้นยังต้องไม่ลืมว่า ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ จำเป็นที่จะต้องแสดงความแข็งแกร่ง กันเสียตั้งแต่วันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ส.ส.ของทั้งสองพรรค กำลังเจอกับ "พลังดูด" ไร้ลิมิต จากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะจาก "มือดีล"ในพรรคพลังประชารัฐ อย่างหนักหน่วง พร้อมๆกันนี้พรรคอนาคตใหม่ ยังดำรงอยู่ในท่ามกลางความอ่อนไหว ของกระแสข่าวว่าจะ "ถูกยุบ" อยู่ ร่อมร่อ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นทั้งการรุกและรักษา "ที่ยืน" ของฝ่ายค้านในคราวเดียวกัน !