ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ที่ในทุกๆวันอาทิตย์ บรรดาสำนักโพลต่างๆจะเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นออกมา นั่นอาจเป็นเพราะธรรมชาติของข่าวสารในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั้น บรรดาแหล่งข่าวต่างๆมักจะไม่ได้เคลื่อนไหวคึกคักเท่ากับวันทำการ การเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นออกมาในช่วงของวันอาทิตย์ จึงมักจะได้พื้นที่ข่าวจากสื่อหลักต่างๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายน ประเด็นที่สำนักโพลต่างๆ จับมาทำสำรวจความคิดเห็นนั้น น่าสนใจทีเดียว เริ่มจากสวนดุสิตโพล ตั้งประเด็น “ดัชนีการเมืองไทยเดือน กันยายน 2562” เปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า คะแนนตกลงในแทบทุกภาคยกเว้นภาคเหนือ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิงหาคม 62 = 4.88 / กันยายน 62 = 4.32 ภาคกลางสิงหาคม 62 = 4.68 / กันยายน62 = 4.18 ภาคเหนือสิงหาคม 62 = 3.81 / กันยายน 62 = 4.16 กรุงเทพมหานครสิงหาคม 62 = 4.55 / กันยายน 62 = 4.04ภาคใต้สิงหาคม 62 = 4.10 / กันยายน 62 = 3.72ภาพรวมคะแนนเต็ม 10สิงหาคม 62 = 4.51กันยายน 62 = 4.12 ขณะที่ซูเปอร์โพล สนใจในประเด็นการขจัดนักการเมืองที่ไม่ดีออกไป โดยพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 ระบุ เห็นด้วยต่อการขจัดนักการเมืองที่ไม่ดีออกไปด้วยกระบวนการยุติธรรมและกลไกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และมีเพียงร้อยละ 4.5 ที่ไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจก็คือ ผลการประเมินคุณภาพนักการเมืองในเวลานี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 ประเมินว่าคุณภาพของนักการเมืองในเวลานี้แย่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในขณะที่ ร้อยละ 23.0 ดีทั้งสองฝ่าย อีกสำนักโพลหนึ่งก็คือ นิด้าโพล ไปจับประเด็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งวันที่ 1 ตุลาคม ถือเป็นวันที่ข้าราชการซึ่งได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายจะเข้าไปรับตำแหน่งใหม่ ขณะที่บางส่วนก็เกษียณอายุราชการ “นิด้าโพล”ตึ้งประเด็นเรื่อง “การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ” ต่อข้อถามที่ว่าถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหน่วยงาน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.07 ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายค่อนข้างบ่อย รองลงมา ร้อยละ 25.80 ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายเลย ร้อยละ 23.72 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสาย และเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหน่วยงาน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.65 ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เลย รองลงมา ร้อยละ 21.64 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ร้อยละ 18.85 ระบุว่า มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ค่อนข้างบ่อย แม้ผลสำรวจของทั้ง 3 โพลจะไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกัน แต่ทั้งหมดสามารถสะท้อนภาพรวมความเชื่อมโยงต่อกัน ด้วยการเมือง นักการเมือง และข้าราชการ ต่างก็เป็นเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศ เมื่อดัชนีการเมืองไทย ก็มีแนวโน้มดิ่งหัวลงเรื่อยๆ ขณะที่มีการประเมินคุณภาพของนักการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านแล้ว ปรากฎว่าผลโพลยังระบุว่า แย่ และเมื่อหันมาดูในส่วนของข้าราชการก็ยังพบปัญหาเรื่องของระบบอุปถัมภ์และเส้นสายเสียอีก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนจะฝากความหวังกับใครที่จะพึ่งพาได้? ฉะนั้น ทั้งนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล รวมทั้งข้าราชการย่อมตระหนักถึงผลสำรวจ ที่แม้ผลสำรวจจะมาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง แต่ก็สะท้อนปรากฎการณ์ที่คนในสังคมเขาคิดอ่านอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องต้องนำกลับไปทบทวนและถอดบทเรียนเพื่อแก้ไข