ทองแถม นาถจำนง เรื่องวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจนั้น พูดกันมามากพูดกันมานาน นานมากกว่าอายุของผู้เขียนเสียอีก ทุกครั้งที่มีพูดถึงการปฏิรูปตำรวจ ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้แยกงานสวบสวนคดีออกมาเสียจากตำรวจ เหตุผลที่พูดกันมากคือ การที่ตำรวจกุมอำนาจทั้งการจับกุมและสอบสวนคดี ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมได้สะดวก บางทีท่านที่เรียกร้องเรื่องนี้อาจลืมไปว่า “ความเป็นธรรม” มันขึ้นอยู่กับบุคคล โดยเฉพาะหัวหน้าหน่วย จะแยกอำนาจสอบสวนไปอยู่ที่ฝ่ายปกครอง (ผู้ว่าราชการ , นายอำเภอ) หรือตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่อีก ความเป็นธรรมก็ชี้ขาดอยู่ที่บุคคลในหน่วยงานอีกนั่นแหละ เรื่องนี้ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช วิจารณ์ไว้เมื่อครั้งที่พรรคสหประชาไทยซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้น (พ.ศ ๒๕๑๓) มีมติให้การแยกอำนาจสอบสวน (คอลัมน์ “สยามรัฐ หน้า ๕” วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๓) ว่า “สรุปแล้วมติของคณะกรรมการพิเศษนี้ มีผลทางเดียวเท่านั้นคือ ทำให้จำนวนเจ้าพนักงานสอบสวนในทุกจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยไม่มีอะไรเป็นประกันได้เลยว่า เจ้าพนักงานที่สอบสวนที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นคนดีเสมอไป ใครจะคิดบ้างหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ว่าการเพิ่มจำนวนคนขึ้นไม่ว่าจะเป็นในหมู่คณะใด มักจะมีคนชั่วเพิ่มขึ้นมากกว่าคนดีเสมอ เพราะคนดีนั้นหายากขึ้นทุกวัน ขอย้อนกลับไปพูดถึงสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องอำนาจการสอบสวน สาเหตุนั้นเท่าที่ทราบมีอยู่ว่า ๑. เจ้าพนักงานสอบสวนทำงานล่าช้า ๒.เจ้าพนักงานสอบสวนไม่เป็นธรรม ๓. เจ้าพนักงานสอบสวนหาผลประโยชน์จากหน้าที่ของตน ทั้งสามเหตุนี้เป็นข้อหาฉกรรจ์ และเมื่อขณะที่อ้างเหตุเหล่านี้ขึ้นมานั้น เป็นเวลาที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนอยู่ จึงต้องสรุปต่อไปว่า เหตุเหล่านี้แสดงว่า ๑.ตำรวจทำงานล่าช้า ๒. ตำรวจไม่เป็นธรรม ๓. ตำรวจหาประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ของตน ความบกพร่องเหล่านี้จะเท็จหรือจริง ไม่เป็นปัญหา ปัญหานั้นอยู่ที่ว่า เมื่อผู้ที่รับผิดชอบการบริหารประเทศยอมรับสาเหตุทั้งสามที่ว่ามาแล้ว ทำไมไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ? คือแก้ที่ตำรวจ ทำให้ตำรวจดีขึ้น ปราศจากมลทินทั้งหลาย” การโอนอำนาจสอบสวนคดี ไปให้ฝ่ายปกครองหรือตั้งองค์กรขึ้นใหม่นั้น จะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นหรือไม่ ก็ยังขึ้นกับคุณธรรมของหัวหน่วยสอบสวนนั้น ๆ เรื่องนี้ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนได้เป็นรูปธรรมมากเลย ท่านว่า “สมมติว่าในจังหวัดหนึ่ง ผู้กำกับการตำรวจเป็นคนดีอยู่แล้ว การตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งก็เป็นคนดีเหมือนกันให้เป็นเจ้าพนักงานสอบสวนก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นไปอีกได้ เพราะความบกพร่องของเจ้าพนักงานสอบสวนไม่มีอยู่แล้ว ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการสอบสวนคดีจึงไม่เกิด แต่สมมติว่า ถ้าผู้กำกับการตำรวจเป็นคนไม่ดี รีดนาทาเร้นราษฎร แล้วไปตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นคนไม่ดีเหมือนกันเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนเข้าอีกคน ราษฎรก็แบนไป หรือถ้าสมมติว่า เจ้าเมืองเป็นคนไม่ดี แต่ผู้กำกับการตำรวจเป็นคนดี การถ่วงดุลอะไรก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเจ้าเมืองเป็นหัวหน้าคณะเจ้าพนักงานสอบสวน ตำรวจไม่จับใคร เจ้าเมืองก็สั่งให้จับได้ หรือเจ้าเมืองอาจใช้อำนาจเจ้าพนักงานสอบสวนจับเอาใครมาขังเองก็ได้ ตำรวจก็ช่วยอะไรไม่ได้ บ้านเมืองก็จะปั่นป่วนไปหมด ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะความแตกแยกที่จะเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายปกครองกับฝ่ายตำรวจเป็นเหตุ และโดยกลับกัน ถ้าเจ้าเมืองเป็นคนดี แต่ผู้กำกับการตำรวจเป็นคนไม่ดี ความแตกแยกและความปั่นป่วนก็ยังจะเกิดขึ้นอยู่นั่นเอง ผลร้ายก็จะเกิดขึ้นแก่การจับกุมคนร้ายมาสอบสวนดำเนินคดี เจ้าเมืองและผู้กำกับผลัดกันจับผลัดกันปล่อยจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร สรุปแล้วมติของคณะกรรมการพิเศษนี้ มีผลทางเดียวเท่านั้นคือ ทำให้เจ้าพนักงานสอบสวนในทุกจังหวัดเพิ่มขึ้น”